สกสว. – กุนซือวิจัย ร่วมพัฒนาระบบติดตามประเมินผลการสนับสนุนทุนวิจัย มุ่งเน้นความคุ้มค่าการลงทุนวิจัย – สังคมตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยกลุ่มภารกิจการพัฒนาระบบและเครือข่ายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุม “คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 2/2563” เพื่อร่วมหารือในประเด็นการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการจัดสรรงบประมาณวิจัยของประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่ สกสว. ตั้งใจออกแบบขึ้นเพื่อวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลได้ว่า งบประมาณวิจัยที่ประเทศไทยลงทุนไป เกิดความคุ้มค่าและได้ผลลัพธ์ทางการวิจัยที่ยังผลประโยชน์ต่อประเทศได้มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

การประชุมครั้งนี้คณะเลขานุการ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ได้ทำการศึกษาโมเดลการออกแบบระบบติดตามและประเมินผลโครงการวิจัยของประเทศที่น่าสนใจ อาทิ อังกฤษและสิงคโปร์ โดยกรณีของประเทศอังกฤษจะมีจะมีระบบที่ชื่อ “ResearchFish” ระบบติดตามและประเมินของอังกฤษเป็นการรวบรวมผลลัพธ์ และผลกระทบ ของงานวิจัย ที่นักวิจัยป้อนข้อมูลเข้ามาในระบบ ซึ่งมีผู้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้กว่า 163 องค์กร ใน 9 ประเทศทั่วโลก โดยรองรับ 2 ภาษาทั้ง อังกฤษ และญี่ปุ่น ความโดดเด่นของระบบนี้ คือ มีการรวบรวมข้อมูลมาตามแหล่งต่างๆ แหล่งทุนและนักวิจัย สามารถเข้าถึงและดาวน์โหลดข้อมูลในระบบวิจัยของประเทศ ตลอดกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ได้ โดย ResearchFish มุ่งเน้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ภาคประชาสังคม ของประเทศ นอกจากนี้ในส่วนของสิงคโปร์ มีระบบวิจัยและนวัตกรรม ที่มีสภาวิจัยเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนงาน เน้นการทำงาน เชิงพาณิชย์ ทำงานร่วมกับเอกชน งบประมาณวิจัยจะไหลลงมาระดับกระทรวง ไปที่ด้านการค้าการลงทุนมากที่สุด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มุ่งเน้นการลงทุนงบประมาณวิจัยไปกับทางด้านธุรกิจ การทำงานกับบริษัทข้ามชาติ อุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ SMEs และมหาวิทยาลัย โดยมีกฎหมายบังคับอย่างเป็นรูปธรรมว่า โครงการที่ได้รับการจัดสรรงบวิจัยจากภาครัฐต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินโครงการ

สำหรับระบบการประเมินวิจัยของประเทศไทย ทางคณะทำงานได้ศึกษาข้อมูลของโมเดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.เดิม) ที่มุ่งเน้นการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบหลังจากโครงการเสร็จสิ้นแล้วตาม กรอบของโออีซีดี (OECD) อย่างกรณีของโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ได้รับงบประมาณ 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องถูกประเมิน 100 % โดยผู้มีประสบการณ์ด้านการประเมินภายนอกหน่วยงานวิจัย นอกเหนือไปจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์และประเมินผล เรื่อง ความคุ้มค่าในการลงทุนทำวิจัย ทำให้ที่ผ่านมา สกว. ตอบคำถามผู้กำหนดนโยบายได้ว่า ประเทศไทยควรลงทุนวิจัยด้านใดเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า

สำหรับความก้าวหน้าของรูปแบบการติดตามและประเมินผลวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) การประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารจัดทุนวิจัย หรือ “พีเอ็มยู” และหน่วยงานในระบบ ววน. ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล อาทิ สัดส่วนงบประมาณที่ พีเอ็มยูสนับสนุนทุนวิจัย เทียบกับงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับจัดสรรจากกองทุน ประสิทธิภาพในการให้ทุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย ความสอดคล้องกับนโยบาย นอกจากนี้ แนวทางการประเมินของพีเอ็มยูจะมุ่งเน้นการใช้วงเงินงบประมาณสอดคล้องกับเป้าหมาย โดยพิจารณาจากสัดส่วนจำนวนโครงการด้าน ววน. ที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ต่อจำนวนโครงการที่สิ้นสุด เป้าหมายผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นรายปี ของแต่ละแผนงานที่ระบุในแผนปฏิบัติการสร้างผลลัพธ์ และผลกระทบ รวมถึงโครงการที่มีผลกระทบสูง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือผลงาน ววน. พร้อมระบุมูลค่าของผลกระทบที่เกิดขึ้น ในระบบสารสนเทศกลางด้านวิจัยชื่อ NRIIS โดย สกสว. จะหนุนเสริมเครื่องมือ การจัดฝึกอบรม การจัดกิจกรรม ให้แก่หน่วยติดตามและประเมินผลของพีเอ็มยู เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งศาสตร์ด้านการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของผลงานวิจัยและนวัตกรรม อาทิ อบรมการใช้โปรแกรมที่ช่วยคำนวณผลลัพธ์และผลกระทบของการดำเนินงานโครงการ เผยแพร่คู่มือในการติดตามและประเมินผลงานวิจัย ตลอดจนจัดกิจกรรมเพื่อให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานในระบบ ววน. เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *