เช็กเลย! หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (หลักเกณฑ์ใหม่)

 

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ทางสำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้ส่งเอกสารเพื่อแจ้ง หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย (หลักเกณฑ์ใหม่) แก่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ ศึกษาธิการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

 

ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑ สํานักงาน ก.ค.ศ. ได้แจ้งหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย ให้ทราบและถือปฏิบัติ นั้น

ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

๑. ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑

๒. กําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การใดที่อยู่ระหว่างดําเนินการ ตามหนังสือที่อ้างถึง ๑ – ๒ ให้ดําเนินการต่อไป จนแล้วเสร็จ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ

 

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ ที่ทาง ก.ค.ศ. กำหนด มีดังนี้

 

เพื่อให้การดําเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทักษะในการจัดการเรียนการสอน และมีความเหมาะสมกับผู้ประกอบวิชาชีพครู เพื่อมาปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๙ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบกับ ข้อ 4 ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๖/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๐ เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก.ค.ศ. จึงกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย โดยมอบหมายให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง หรือ ส่วนราชการ หรือหน่วยงานการศึกษา แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดําเนินการและบริหารจัดการเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ดังนี้

 

๑. ในหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

“ส่วนราชการ” หมายถึง สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สํานักงาน คณะกรรมการการอาชีวศึกษา สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

“ผู้ดําเนินการสอบแข่งขัน” หมายถึง กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี

 

๒. ผู้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขัน ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

๒.๑ มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและ บุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗

๒.๒ มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่น ที่ ก.ค.ศ. กําหนดเป็น คุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่ง ไม่หลังวันรับสมัครสอบแข่งขันวันสุดท้าย

๒.๓ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครู ตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ไม่หลังวันรับสมัครสอบแข่งขันวันสุดท้าย และยังไม่หมดอายุ

เว้นแต่ ผู้สมัครสอบแข่งขันที่มีคุณวุฒิในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ขาดแคลนหรือมีความจําเป็นต่อการจัดการเรียนการสอนเป็นพิเศษ ตามที่ส่วนราชการกําหนด จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติ หน้าที่สอน ก่อนบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย

กรณีผู้สมัครสอบแข่งขันซึ่งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการอื่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ ๒.๑ – ๒.๓ แล้ว ต้องมีหนังสืออนุญาต จากผู้มีอํานาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ให้สมัครสอบแข่งขันและยินยอมให้ย้ายหรือโอนเมื่อสอบแข่งขันได้ โดยให้บรรจุและแต่งตั้งในตําแหน่งครูผู้ช่วยและรับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย ตามที่กําหนดไว้ในประกาศ รับสมัครสอบแข่งขัน ทั้งนี้ ในวันสมัครสอบแข่งขัน ผู้สมัครต้องรับรองตนเองด้วยว่าในวันบรรจุและแต่งตั้ง ไม่ติดเงื่อนไขอื่นใด ที่หน่วยงานหรือส่วนราชการที่ตนสังกัดอยู่เดิมกําหนด

 

๓. การสอบแข่งขันแบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป ภาค ข มาตรฐาน ความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ และภาค ค ความเหมาะสมกับตําแหน่ง วิชาชีพ และการปฏิบัติงาน ในสถานศึกษา ตามหลักสูตรที่กําหนดท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

ทั้งนี้ การประเมินภาค ค กําหนดให้ใช้ระยะเวลาประเมินไม่เกิน ๔๕ นาทีต่อผู้สมัครหนึ่งราย โดยการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอนต้องใช้ระยะเวลาประมาณ ๒๐ – ๒๕ นาที และจัดสอบให้ตรงกับระดับ การศึกษาและระดับชั้นที่ผู้สมัครแสดงความประสงค์ไว้ในใบสมัคร

 

๔. เกณฑ์การตัดสิน

๔.๑ ผู้สอบแข่งขัน ต้องได้คะแนนในภาค ก และ ภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ํากว่าร้อยละหกสิบ จึงจะมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค โดยให้ประกาศรายชื่อเรียงตามลําดับเลขประจําตัวสอบ

๔.๒ ผู้สอบแข่งขันได้ ต้องได้คะแนน ภาค ก ภาค ข และ ภาค ค แต่ละภาคไม่ต่ำกว่า ร้อยละหกสิบ โดยให้ประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้เรียงตามลําดับที่ผู้ที่ได้คะแนนรวมจากมากไปหาน้อย แยกตามประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก

กรณีผู้สอบแข่งขันได้ ได้คะแนนรวม ภาค ก ภาค ข และ ภาค ค เท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนน ภาค ค มากกว่าเป็นผู้อยู่ในลําดับที่ดีกว่า หากยังได้คะแนน ภาค ค เท่ากัน ให้ผู้ที่ได้คะแนน ภาค ข มากกว่าเป็นผู้ที่ อยู่ลําดับที่ดีกว่า หากยังได้คะแนน ภาค ข เท่ากันอีก ให้ผู้ที่ได้รับเลขประจําตัวสอบก่อนเป็นผู้ที่อยู่ลําดับที่ดีกว่า

 

๕. การขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ กําหนดกรอบระยะเวลาไว้ไม่เกินสองปี นับแต่วันที่ ประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ เว้นแต่มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ในคุณวุฒิ กลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกเดียวกันครั้งใหม่ บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ครั้งก่อนเป็นอันยกเลิก

ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ เป็นผู้กําหนดระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ภายใน กรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยคํานึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับเป็นสําคัญ และ ให้ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันประกาศระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ตามที่ส่วนราชการกําหนด ไว้ในประกาศรับสมัครด้วย

 

๖. การสมัครสอบแข่งขันของผู้สมัคร ให้ดําเนินการดังนี้

๖.๑ ให้เลือกสมัครสอบได้เพียง กศจ. ใด กศจ. หนึ่ง หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแห่งใดแห่งหนึ่ง เท่านั้น และให้เลือกสมัครได้ในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น หากปรากฏว่าผู้สมัคร สมัครสอบเกินกว่าหนึ่งแห่ง และหรือสมัครสอบเกินกว่าหนึ่งประเภทวิชาหรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก จะตัดสิทธิการสอบแข่งขันทั้งหมด

ทั้งนี้ ให้ยื่นสมัครตามรูปแบบและวิธีการที่ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันกําหนด พร้อมค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ จํานวน ๓๐๐ บาท

๖.๒ ระบุระดับการศึกษาและระดับชั้นที่ประสงค์จะสอบสาธิตการปฏิบัติการสอน ไว้ในใบสมัคร

ทั้งนี้ การระบุระดับการศึกษาและระดับชั้นดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ผู้สมัครจัดทํา รายละเอียดประกอบการสอบสาธิตการปฏิบัติการสอนในภาค ค เท่านั้น

๖.๓ จัดทํารายละเอียดการประเมินภาค ค ตามตัวชี้วัดและองค์ประกอบตามหัวข้อที่ได้ ระบุไว้ในประกาศรับสมัคร พร้อมทั้ง จัดเตรียมแผนการจัดการเรียนรู้ให้ตรงกับระดับการศึกษาและระดับชั้น ที่ระบุในข้อ 5.๒

ทั้งนี้ ให้ผู้สมัครที่มีผลคะแนนภาค ก และภาค ข ผ่านเกณฑ์ตามข้อ ๔.๑ ยื่นเอกสารการประเมิน ภาค ค ตามรายการและจํานวนชุดเอกสารที่ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันกําหนด และ ให้ยื่นในวัน เวลา และสถานที่ที่ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันกําหนดด้วย

 

๗. การจัดทําบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นกรรมการประเมินภาค ก ให้ส่วนราชการ สํานักงานศึกษาธิการจังหวัด และสํานักงาน ก.ค.ศ. จัดทําบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี พิจารณา แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการประเมินตามองค์ประกอบที่กําหนดในข้อ ๙,๙.๒

 

๘. การดําเนินการของส่วนราชการนอกจากข้อ ๗ แล้ว ให้ดําเนินการดังนี้

๘.๑ กําหนดสัดส่วนตําแหน่งว่างเพื่อใช้ในการสอบแข่งขันและการคัดเลือก ๔.๒ กําหนดวัน เวลา ในการสอบ ภาค ก และ ภาค ข

๘.๓ บริหารจัดการเกี่ยวกับการออกข้อสอบ ภาค ก ภาค ข และกําหนดตัวชี้วัดการประเมิน ภาค ค พร้อมทั้งกําหนดเกณฑ์การประเมินและวิธีการให้คะแนน ภาค ค แบบรูบริค (Scoring Rubric) ตามหลักสูตรที่กําหนดท้ายหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

๘.๔ กําหนดระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้มีระยะเวลาที่เหมาะสม โดยให้ คํานึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับเป็นสําคัญ ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองปี

๘.๕ กํากับติดตามการดําเนินการสอบแข่งขัน ให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กําหนด

 

๙. การดําเนินการของผู้ดําเนินการสอบแข่งขัน ให้ดําเนินการดังนี้

๙.๑. กําหนดจํานวนตําแหน่งว่างที่มีอัตราเงินเดือน และกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ที่ใช้ในการสอบแข่งขัน ตามความต้องการจําเป็นของสถานศึกษา

ทั้งนี้ ตําแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง ต้องเป็นตําแหน่งว่างที่มีอัตราเงินเดือน ในสถานศึกษาที่มีอัตรากําลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่เกินเกณฑ์อัตรากําลังที่ ก.ค.ศ. กําหนด และต้องเป็นตําแหน่งที่ไม่มีเงื่อนไขการใช้ตําแหน่ง

๙.๒ กําหนดวิธีการและรูปแบบในการรับสมัคร โดยอาจกําหนดให้ผู้สมัครยื่นสมัคร ด้วยตนเองหรือทางอิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่กําหนดให้ยื่นสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ดําเนินการสอบแข่งขัน กําหนดวิธีการยื่นเอกสารประกอบการตรวจสอบคุณสมบัติด้วย

ทั้งนี้ ใบสมัครต้องกําหนดให้ผู้สมัครระบุด้วยว่าประสงค์จะทําการสอบสาธิต การปฏิบัติการสอน ในระดับการศึกษาใดและระดับชั้นใด เพื่อให้ผู้สมัครจัดทํารายละเอียดประกอบการสอบสาธิต การปฏิบัติการสอนในภาค ค

๙.๓ ประกาศรับสมัครก่อนวันรับสมัครไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน โดยระบุรายละเอียด ดังนี้

๙.๓.๑ ตําแหน่งว่างที่จะใช้บรรจุและแต่งตั้ง ตามข้อ ๔.๑ จําแนกคุณวุฒิพร้อมระบุ อัตราเงินเดือน

๙.๓.๒ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบแข่งขัน ตามข้อ ๒

๙.๓.๓ วัน เวลา และสถานที่ในการสอบ ภาค ก และ ภาค ข รวมทั้งวิธีการและรูปแบบ การรับสมัคร

๙.๓.๔ หลักสูตรการสอบแข่งขัน ภาค ก ภาค ของค์ประกอบ ตัวชี้วัด เกณฑ์การประเมิน และวิธีการให้คะแนน ภาค ค รวมทั้งเกณฑ์การตัดสิน

๙.๓.๕ ระยะเวลาในการประเมินภาค ค ตามข้อ ๓ วรรคสอง ๔.๓.๖ ระยะเวลาการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ตามที่ส่วนราชการกําหนด

๙.๓.๗ เงื่อนไขกรณีที่ตรวจสอบภายหลังพบว่า ผู้สมัครรายใดเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ตามประกาศรับสมัครและตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กําหนด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง ทั้งนี้ หากผู้ใดได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว ให้ผู้มีอํานาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ดําเนินการสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการโดยพลัน ตามมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือสั่งเพิกถอนคําสั่งบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วย วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แล้วแต่กรณี และหากตรวจสอบพบว่าเอกสารหลักฐานที่ใช้ในการสอบแข่งขัน เป็นเอกสารที่เป็นเท็จ ผู้สมัครจะต้องถูกดําเนินการทางอาญา

๙.๓๘ เงื่อนไขอื่นที่ส่วนราชการหรือผู้ดําเนินการสอบแข่งขันกําหนด ทั้งนี้ ต้องไม่ขัดหรือแย้ง กับหลักเกณฑ์และวิธีการนี้

ทั้งนี้ ให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผย และส่งประกาศทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือทางอินเทอร์เน็ตไปยังส่วนราชการ และหน่วยงานที่เห็นสมควร ตลอดทั้งประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางสื่อต่าง ๆ

๙.๔ รับสมัครสอบแข่งขันไม่น้อยกว่าเจ็ดวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

๙.๕ ดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครสอบแข่งขันให้ถูกต้องตามประกาศ รับสมัครและตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กําหนด ทั้งการรับสมัครด้วยตนเองและทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ภาค ก และ ภาค ข

ทั้งนี้ อาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร สอบแข่งขัน รวมทั้งดําเนินการอื่นตามความจําเป็น โดยในแต่ละวันให้จัดทําสถิติผู้สมัครแยกตามคุณวุฒิ ประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก ประกาศไว้ในที่เปิดเผย และหรือทางอินเทอร์เน็ต

๙.๖ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ภาค ก และภาค ข โดยเรียงตามลําดับเลขประจําตัวสอบ แยกตามประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอก และประกาศวัน เวลา และสถานที่สอบ ภาค ก และภาค ข รวมทั้งระเบียบว่าด้วยการปฏิบัติของผู้เข้าสอบและระเบียบอื่น ๆ เกี่ยวกับการสอบแข่งขัน ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางสื่อต่าง ๆ

๙.๗ ดําเนินการจัดสอบ ภาค ก และ ภาค ข

๙.๘ ประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันที่ได้คะแนน ภาค ก และ ภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ํากว่า ร้อยละหกสิบ โดยเรียงตามลําดับเลขประจําตัวสอบ พร้อมทั้ง กําหนดวัน เวลา และสถานที่ในการประเมินภาค ค และให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทางอินเทอร์เน็ต หรือทางสื่อต่าง ๆ

๙.๙ เมื่อทราบจํานวนผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาคคตามข้อ ๔.๘ แล้ว ให้ดําเนินการดังนี้

๙.๙.๑ กําหนดวัน เวลา และสถานที่ประเมิน ภาค ครวมทั้งกําหนดรายการและจํานวน ชุดเอกสารการประเมินภาค ค ที่ผู้สอบแข่งขันต้องจัดทํา โดยให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันทางอินเทอร์เน็ต หรือ ทางสื่อต่าง ๆ ทั้งนี้ หากต้องการให้ผู้ที่มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค จัดส่งเอกสารการประเมินภาค ค ก่อนวันสอบสาธิตการปฏิบัติการสอน ต้องกําหนดวันและเวลาให้มีความเหมาะสมด้วย

๙.๙.๒ แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินภาค ค จํานวน ๕ คน ตามองค์ประกอบ ดังนี้

๑) สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ยกเว้นสํานักบริหารงาน การศึกษาพิเศษ) คณะกรรมการประเมิน ประกอบด้วย ผู้อํานวยการสถานศึกษา จํานวน ๑ คน ครูที่มีความรู้ความสามารถ ทางด้านการสอนในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกนั้น ๆ จํานวน ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน ๓ คน จากบัญชีรายชื่อที่ได้กําหนดตามข้อ ๗ บัญชีละ ๑ คน

๒) สังกัดส่วนราชการอื่น และสํานักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สังกัดสํานักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการประเมิน ประกอบด้วย ผู้อํานวยการสถานศึกษา จํานวน ๑ คน ครูที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการสอนในประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือสาขาวิชาเอกนั้น ๆ จํานวน ๑ คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จํานวน ๓ คน จากบัญชีรายชื่อที่ได้กําหนดตามข้อ ๗ โดยให้เลือกจากบัญชี รายชื่อที่ส่วนราชการกําหนด จํานวน ๒ คน และบัญชีรายชื่อที่สํานักงาน ก.ค.ศ. กําหนด จํานวน ๑ คน

ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการประเมินภาค ค ตามข้อ ๑) และข้อ ๒) ต้องกําหนดให้มีประธาน กรรมการ และเลขานุการ ในแต่ละคณะด้วย และคณะกรรมการประเมินต้องไม่เป็น ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินภาค ค กรณีที่มีเหตุผลความจําเป็นอาจตั้งคณะกรรมการประเมิน มากกว่า ๑ คณะ ก็ได้

๙.๑๐ ดําเนินการประเมิน ภาค ค โดยให้คณะกรรมการประเมินที่ผู้ดําเนินการ สอบแข่งขันแต่งตั้ง ดําเนินการประเมิน ภาค ค ตามระยะเวลาที่กําหนดในข้อ ๓ วรรคสอง โดยให้ประเมิน ณ สถานที่ที่ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันกําหนด ทั้งนี้ การประเมินความสามารถด้านการสอนต้องมีการบันทึกภาพ และเสียงในรูปแบบวิดีโอในขณะประเมินไว้เป็นหลักฐานด้วย และเมื่อดําเนินการประเมินแล้วเสร็จให้คณะกรรมการ ประเมินส่งคะแนนและหลักฐานการประเมิน ภาค ค ทั้งหมด ให้ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันเพื่อดําเนินการ ประมวลผลคะแนนรวม ภาค ก ภาค ข และภาค ค

๙.๑๑ ประกาศรายชื่อผู้สอบแข่งขันได้เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนตามเกณฑ์การตัดสิน ข้อ ๔.๒ โดยเรียงลําดับที่ผู้ที่ได้คะแนนรวมทุกภาคจากมากไปหาน้อย แยกตามประเภทวิชา หรือกลุ่มวิชา หรือทาง หรือ สาขาวิชาเอก โดยให้ประกาศไว้ในที่เปิดเผย ตลอดทั้งประชาสัมพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต หรือทางสื่อต่าง ๆ

ทั้งนี้ ให้ผู้ดําเนินการสอบแข่งขันพิจารณาแต่งตั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ การสอบแข่งขัน ได้ตามความจําเป็นและความเหมาะสม หรือมอบหมายให้สํานักงานศึกษาธิการจังหวัด สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา สํานักบริหารงาน การศึกษาพิเศษ สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือสํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แล้วแต่กรณี แต่งตั้งกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการสอบแข่งขัน ได้ตามความจําเป็นและความเหมาะสม

 

๑๐. การเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้และการบรรจุและแต่งตั้ง

๑๐.๑ ให้ส่วนราชการหรือสํานักงานศึกษาธิการจังหวัด แล้วแต่กรณี เรียกตัว ผู้สอบแข่งขันได้มารายงานตัวเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง โดยทําหนังสือเรียกตัวผู้สอบแข่งขันได้โดยตรงเป็นรายบุคคล ตามลําดับที่ในประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ตามที่อยู่ที่ปรากฏในเอกสารการสมัคร โดยแจ้งกําหนด วันรายงานตัวไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน แต่ไม่เกินสิบวัน นับแต่วันประทับตราลงทะเบียนของไปรษณีย์ต้นทาง โดยให้ แจ้งรายละเอียดดังต่อไปนี้

๑) วัน เวลา และสถานที่รายงานตัว

๒) เอกสารและหลักฐานที่ใช้ประกอบการรายงานตัว

๓) ลําดับที่ที่ผู้สอบแข่งขันได้มีสิทธิได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง

๔) ที่ตั้งของสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง

๕) วันที่จะบรรจุและแต่งตั้ง

๖) อื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร

๑๐.๒ ให้ผู้มีอํานาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง สั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ที่มีคุณสมบัติ ครบถ้วน และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูหรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูตามที่ คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอน ที่ยังไม่หมดอายุ โดยให้บรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตําแหน่งครูผู้ช่วย และรับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย ตามประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน ตามจํานวนตําแหน่งว่าง และ ตามลําดับที่ในประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ โดยอนุมัติของ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้งแล้วแต่กรณี และ ให้ส่งสําเนาคําสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปยังส่งนักงานเขตพื้นที่

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

Facebook : https://www.facebook.com/sompanginarn

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *