คณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี จัดโครงการ “ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด 19” ช่วยเหลือชุมชน

สโมสรนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ได้จัดโครงการ “ปันน้ำใจสู้ภัยโควิด 19 จากชาวคณะอุตสาหกรรมเกษตร มจพ.ปราจีนบุรี” เพื่อเป็นการบรรเทาและช่วยเหลือชุมชนที่อยู่โดยรอบตามนโยบายของมหาวิทยาลัย เป็นความร่วมมือจากอาจารย์และบุคลากรในคณะ นักศึกษา ศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่า รวมทั้งภาคเอกชนหลายบริษัท อาทิ บริษัทซีพีไอไรซ์ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด บริษัท Star cannery จำกัด ผู้ผลิตปลากระป๋อง ตราปาปี้ (PaPi) บริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัทซันฟูดส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นต้น

ภายใต้โครงการนี้ คณะอุตสาหกรรมเกษตรเน้นจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อส่งมอบให้กับชุมชน โดยเน้นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สามารถบริโภคได้ทันที และเก็บไว้รับประทานได้นานหลายวัน ดังนั้นจึงเลือกใช้กระบวนการผลิตที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา อาศัยหลักการทำงานร่วมกันของกระบวนการต่าง ๆ (Hurdle technology) จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1. น้ำพริกปลาป่น ซึ่งเลือกวัตถุดิบหลักเป็นปลานิลจากสหกรณ์ประมงนิคมบ้านสร้างพัฒนาปราจีนบุรี จำกัด โดยนำมาแปรรูปนึ่งให้สุก ขูดเอาเฉพาะส่วนเนื้อมาทอดให้แห้งฟู นำมาคลุกผสมกับสมุนไพร ได้แก่ พริกแห้ง หอมเจียว กระเทียมเจียว และน้ำมะขามเปียก จากนั้นนำเข้าตู้อบลมร้อนเพื่อไล่น้ำมัน ซึ่งจะทำให้น้ำพริกมีลักษณะแห้ง ไม่อมน้ำมัน และเก็บได้นาน 2. น้ำพริกกะปิปลาทู ส่วนผสมประกอบด้วย กะปิ น้ำตาลปี๊บ พริกสด น้ำมะนาว และกระเทียม และเพิ่มความพิเศษโดยการผสมเนื้อปลาทูนึ่งที่นำไปคั่วจนฟูเพื่อเป็นการเสริมคุณค่าสารอาหารโปรตีน และ 3. พะแนงไก่บรรจุกระป๋อง พัฒนาเข้มข้นด้วยเครื่องแกงสมุนไพร และใช้กระบวนการฆ่าเชื้อระดับสเตอริไลซ์ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย และมีอายุการเก็บที่นาน

นอกจากนี้คณะอุตสาหกรรมเกษตร ได้ดำเนินการผลิตแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ สูตรความเข้มข้นเอทานอล 75% ทั้งชนิดสเปรย์และเจล เพื่อแจกจ่ายให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในเขตชุมชนตำบลเนินหอม และตำบลเนินบาก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้จะมีการแจกจ่ายสิ่งของทั้งหมด 3 ครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน พ.ศ. 2563 โครงการนี้คาดว่าจะมีชาวบ้านที่เข้าร่วมรับสิ่งของไม่ต่ำกว่า 500 ครัวเรือน ซึ่งน่าจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือชาวบ้านให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤตินี้อีกระดับหนึ่ง

ท่านใดหรือหน่วยงานใดสนใจผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อเข้ามาที่ ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมเกษตร มจพ. วิทยาเขตปราจีนบุรี โทรศัพท์ อาจารย์ ดร.พนิดา เรณูมาลย์ โทร. 099-2619-990

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *