ครม.รับทราบแผนเปิดเรียน 1 ก.ค.นี้ พร้อมจัดสรรงบสนับสนุนเพิ่มเติม

 

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.63 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เผยว่า ครม. ได้รับทราบการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยบริหารงบประมาณของเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ติดตามและออกเยี่ยมบ้านนักเรียน ที่สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนทางไกล ในสถานการณ์ COVID-19 ก่อนเปิดการเรียนการสอนปกติ 1 กรกฎาคม 2563

 

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอการเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนการเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับโรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยให้เริ่มนับเวลาเรียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป และเวลาเรียนที่เปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน โดยอนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ 9 เมษายน 2564 กรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส) ให้สถานศึกษาสอนซ่อมเสริม และดำเนินการวัดและประเมินผลให้เสร็จสิ้น และอนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

 

ในส่วนการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เตรียมความพร้อม ซึ่งเสร็จสิ้นตั้งแต่ 17 พฤษภาคม 2563 ระยะที่ 2 การตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนทางไกล ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 ใน 2 รูปแบบคือ เรียนผ่านทีวี (On-Air) และเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชัน (Online) ระยะที่ 3 (1 กรกฎาคม – 30 เมษายน 2564) แยกออกเป็น

 

สถานการณ์ที่ 1 หากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV จำนวน 15 ช่อง ซึ่งสามารถรับชมผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน และ Youtube ช่อง DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเว็บไซต์ OBEC ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อีกช่องทางหนึ่ง และ สถานการณ์ที่ 2 หากไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย ให้จัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ระยะที่ 4 การวัดผลและประเมินผล หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย การวัดและประเมินผลในระดับปฐมวัย ใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรม การพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ สพฐ. ได้จัดสรรงบประมาณให้เพิ่มเติม แนวทางการดำเนินงานตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน งบเงินอุดหนุน รายการค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) คือ ให้สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เช่น วัสดุผลิตสื่อการเรียนการสอน ใบงาน แบบฝึกหัดและค่าใช้จ่ายในการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียน ที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

 

ในส่วนการบริหารจัดการสำหรับนักเรียนพิการและเด็กด้อยโอกาส ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการสำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษ ที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตามปกติ ให้ดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง กรณีนักเรียนประจำ 90 บาท (มื้อละ 30 บาท / 3 มื้อ) อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง กรณีนักเรียนไป-กลับ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 30 บาท (1 มื้อ) อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง สำหรับนักเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนเฉพาะความพิการ กรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ให้เงินสดให้แก่ผู้ปกครอง หากเป็นนักเรียนประจำ จำนวน 90 บาท (มื้อละ 30 บาท / 3 มื้อ) ให้แก่ผู้ปกครอง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง กรณีนักเรียนไป-กลับ จ่ายเป็นเงินสด จำนวน 30 บาท (1 มื้อ) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง

 

สพฐ. ได้รายงานว่าการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลเชิงบวกให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องพัฒนาตนเองอย่างเร่งด่วน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองก็เพิ่มบทบาทมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

https://siamrath.co.th

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *