เปิดตัวนวัตกรรมสื่อเสมือนจริง AR เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวใหม่ จากสพฐ.

 

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ได้เป็นประธานพิธีเปิดโครงการพัฒนาสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ สำหรับใช้ประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียน โดยมีนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. รวมทั้งผู้บริหาร ข้าราชการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑ์การศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการ

 

โดยในงานนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตระหนักในความสำคัญของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ จึงได้มีนโยบายเสริมสร้างการอ่าน การเขียน เรียนประวัติศาสตร์ ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ที่ครูต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และกระบวนการเรียนการสอน โดยใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย ให้นักเรียนสามารถเรียนประวัติศาสตร์ไทยอย่างเข้าใจ สนุก และท้าทาย สามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยได้ด้วยตนเอง

 

 

รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทยให้กับนักเรียน โดยใช้สื่อเสมือนจริง หรือ “AR” (Augmented Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พลิกโลกระหว่างความจริงกับการจำลองให้เข้าร่วมเป็นสิ่งเดียว ผ่านการมองผ่านอุปกรณ์ ทำให้ระบบการเรียนการสอนมีความสนุก ท้าทาย และน่าสนใจ และครูยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดการจัดการเรียนในสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไปได้

 

ด้านรองเลขาธิการ กพฐ. นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมสื่อเสมือนจริง (AR) เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และใช้ประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจภักดิ์ รักษ์ความเป็นไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทย จากธนบัตรอันทรงคุณค่า” ที่มีภาพหลายอย่างปรากฏอยู่ แต่ละภาพมีเรื่องเล่าความเป็นมาสื่อให้เห็นถึงประวัติในแต่ละยุค

 

 

โดยวิธีการคือ การนำโทรศัพท์มือถือสแกนบนธนบัตรมูลค่าต่างๆ ในจุดที่กำหนด จะเกิดเป็นภาพ 3 มิติ โดยแต่ละธนบัตร จะมีเรื่องเล่าความเป็นมา สื่อให้เห็นถึงประวัติในแต่ละยุคแตกต่างกันไป โดยใช้สื่อเสมือนจริง หรือ AR (Augmented Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะผสมผสานระหว่างความจริง กับการจำลอง ทำให้ระบบการเรียนการสอนมีความสนุก ท้าทาย และน่าสนใจ และครูยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด การจัดการเรียนในสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไปได้

นวัตกรรมนี้ถือเป็นการเรียนในรูปแบบใหม่ที่จะทำให้ครูผู้สอน นักเรียน และเยาวชน รู้สึกสนุก ท้าทาย เข้าถึงได้ง่าย และสามารถเข้าใจในประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-กระทรวงศึกษาธิการ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *