“กสศ.- Shrewsbury- JD Central” ประกาศผลความสำเร็จ พลังแห่งความร่วมมือ – Equity Partnership นร.ไทย-นานาชาติ “ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์” เปิดประสบการณ์ขายของออนไลน์จริง“ อีคอมเมิร์ซ-การตลาดออนไลน์” ต่อยอดทุนเสมอภาค นำสินค้าใหม่ จำหน่ายผ่าน JD Central
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ณ Zen Gallery ชั้น 8 Central World กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และ บริษัท JD Central จัดพิธีมอบรางวัล “Equity Partnership’s School Network: กระบวนการ สร้าง-ขาย-ขยายฝัน ก่อเกิดผลิตภัณฑ์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสทางการศึกษา” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership) โดยความร่วมมือของ กสศ. โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และ บริษัท JD Central ร่วมกันต่อยอดโครงการทุนเสมอภาค สร้างกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับทักษะใน ศตวรรษที่ 21 เรียนรู้ ระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กับนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายตลาดวาดฝัน จำนวน 10 แห่ง เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่มีในชุมชนของโรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่ง กสศ. สนับสนุนกระบวนการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนไทย โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ และ งบประมาณตั้งต้นของผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของ JD Central สำหรับรายได้จากการจำหน่ายสินค้าโดยไม่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะมอบให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคที่เข้าร่วมโครงการพัฒนานวัตกรรมฯ เพื่อนำไปต่อยอดทักษะอาชีพและเป็นทุนการศึกษาต่อไป ซึ่งโครงการพัฒนานวัตกรรมฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 อย่างต่อเนื่อง แม้มีการแพร่ระบาดของโควิด–19 โดยมีการปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว
ทั้งนี้ โรงเรียนเครือข่ายตลาดวาดฝันได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างแบรนด์สินค้า นำออกจำหน่ายทางช่องทางออนไลน์ JD Central ในแคมเปญ “ชวนกันมาช้อป น้องๆ สุขใจ” เป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งแบรนด์และสินค้าของโรงเรียนทั้ง 10 แห่ง ได้แก่
- “อรุณ” ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน” โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จังหวัดกาญจนบุรี
- “สืบสานงานท่อกก” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานงานทอกก โรงเรียนท่าศาลาประชานุสรณ์ จังหวัดขอนแก่น
- “Bamboo Art” ผลิตภัณฑ์กระติบข้าว โรงเรียนมัธยมตลาดใหญ่วิทยา จังหวัดขอนแก่น
- “เอราวัณโกอินเตอร์” ผลิตภัณฑ์กล่องสานอเนกประสงค์ โรงเรียนเอราวัณวิทยาคม จังหวัดเลย
- “Yus tsev อยู่เจ๋” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) โรงเรียนแม่ตะละวิทยา จังหวัดเชียงราย
- “cocomarketeers” ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในขวดแก้วกัดลาย โรงเรียนบ้านท่าแซะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- “คลองโรรักษ์โลกทีม” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถุงผ้ารักษ์โลก โรงเรียนบ้านคลองโร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- “JDKOH” ผลิตภัณฑ์ที่แขวนของติดผนังจากกระดาษรีไซเคิล โรงเรียนบ้านเจดีย์โคะ จังหวัดตาก
- “สัตตบรรณงานสาน” ผลิตภัณฑ์ปากกาสานฝัน โรงเรียนบ้านหนองนกทา จังหวัดอุบลราชธานี
- “บางกอกห้วยไร่” ผลิตภัณฑ์ถุงผ้า Handmade by ม่อนฟ้าหลวง โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย
หลังจำหน่ายสินค้าผ่าน JD Central เป็นระยะเวลา 1 เดือน กสศ. โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury และ JD Central ได้ตัดสินโรงเรียนที่มีผลงานชนะเลิศ โดยพิจารณาจากเกณฑ์คือ ยอดจำหน่ายสินค้า ความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการทำงาน ตลอดจนความร่วมมือของโรงเรียนแต่ละแห่ง ดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย แบรนด์ “บางกอกห้วยไร่” ผลิตภัณฑ์ถุงผ้า Handmade by ม่อนฟ้าหลวง
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ โรงเรียนบ้านท่าแซะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี แบรนด์ “cocomarketeers” ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นในขวดแก้วกัดลาย
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โรงเรียนบ้านหนองนกทา จังหวัดอุบลราชธานี แบรนด์ “สัตตบรรณงานสาน” ผลิตภัณฑ์ปากกาสานฝัน
- รางวัลความร่วมมือดีเด่น ได้แก่ 1.โรงเรียนมัธยมตลาดใหญ่วิทยา จังหวัดขอนแก่น แบรนด์ “Bamboo Art” ผลิตภัณฑ์กระติบข้าว 2.โรงเรียนเอราวัณวิทยาคม จังหวัดเลย แบรนด์ “เอราวัณโกอินเตอร์” ผลิตภัณฑ์กล่องอเนกประสงค์ และ 3.โรงเรียนบ้านคลองโร จังหวัดสุราษฎร์ธานี แบรนด์ “คลองโรรักษ์โลกทีม” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้ารักษ์โลก
- รางวัลนวัตกรรมดีเด่น ได้แก่ 1.โรงเรียนแม่ตะละวิทยา จังหวัดเชียงราย แบรนด์ “Yus tsev อยู่เจ๋” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) 2.โรงเรียนท่าศาลาประชานุสรณ์ จังหวัดขอนแก่น แบรนด์ “ลายสานกก” ผลิตภัณฑ์กระเป๋าทอกก”
- รางวัลสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ดีเด่น ได้แก่ 1.โรงเรียนเจดีย์โคะ จังหวัดตาก แบรนด์ “JDKOH” ผลิตภัณฑ์ที่แขวนกุญแจ 2.โรงเรียนราษฎร์บำรุงธรรม จังหวัดกาญจนบุรี แบรนด์ “อรุณ” ผลิตภัณฑ์ชาใบหม่อน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equity Partnership เป็นหนึ่งในตัวอย่างภารกิจของ กสศ. ที่มุ่งสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนทรัพยากร องค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมจากสังคม เพื่อสร้างเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาที่ยั่งยืน แม้ ปัจจุบัน กสศ. จะสนับสนุนทุนเสมอภาคปีละ 3,000 บาทให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศมากกว่า 700,000 คน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่หนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการทุนเสมอภาคที่ส่งเสริมให้ทุกโรงเรียนเกือบ 30,000 แห่งทั่วประเทศใช้งบประมาณส่วนนี้ในการการลงทุนพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้นักเรียนยากจนพิเศษสามารถนำไปเป็นต้นทุนเพื่อต่อยอดภายหลังสำเร็จการศึกษา และบ่มเพาะทักษะและคุณลักษณะที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม การตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขายของออนไลน์ โดย กสศ. ได้เชื่อมโยงให้สถานศึกษาในชนบทได้มีโอกาสทำงานร่วมกับสถานศึกษานานาชาติ และบริษัท อีคอมเมิร์สชั้นนำของประเทศ ให้นำเอาความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่มาใช้ เพื่อร่วมกันสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล โดยเปิดพื้นที่ให้พี่นักเรียนจากโรงเรียนนนาชาติได้พบกับน้องนักเรียนในต่างจังหวัด และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในชุมชนออกวางจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ของ JD Central ได้ ไม่เพียงแต่นักเรียนจากต่างจังหวัดได้เรียนรู้ทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ และการวางกลยุทธ์ทางการตลาด นักเรียนจากในเมืองหลวงก็ได้เรียนรู้เรื่องของ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นของไทย ซึ่งหลายคนยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสด้วยเช่นกัน เห็นได้ว่าทั้งสองฝั่งต่างเป็นผู้ให้โอกาสและผู้รับโอกาสในการเรียนรู้ไปด้วยกัน
“โครงการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) เช่นนี้ เป็นตัวอย่างของภารกิจกองทุนที่แตกต่างจากการให้ทุนการศึกษาโดยทั่วไป เพราะรูปแบบและกระบวนการทำงานของโครงการมุ่งให้นักเรียนได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ภายใต้การประสานความร่วมมือร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะที่ก่อประโยชน์ให้กับนักเรียนทุนเสมอภาค ให้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ นำไปสู่โอกาสทางการศึกษาในอนาคตได้อย่างยั่งยืน อันเป็นวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้หมดไปได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเราขยายผลโครงการลักษณะนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เด็กของเราจะได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น สังคมไทยในทุกพื้นที่จะเป็นสังคมแห่งความเสมอภาคที่ไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพียงลำพัง ดังนั้น จากผลความสำเร็จในครั้งนี้ จึงได้ต่อยอดการพัฒนาในระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ โดยครั้งนี้เราจะเปิดโอกาสให้โรงเรียนที่มีนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของนักเรียนและต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ่านความร่วมมือระหว่าง JD central และ เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งครั้งนี้เราจะมีจำนวนโรงเรียนนานาชาติมาเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นด้วย อันนี้อยากให้โรงเรียน คุณครู ที่สนใจติดตามกติกา ได้ทาง website และ fb ของ กสศ. ต่อไป” ดร.ไกรยส กล่าว
Mr.Chris Seal โรงเรียนนานาชาติโชส์เบอรี กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม ไม่เพียงแค่ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้น แต่เด็ก ๆ ยังได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง จากกระบวนการพัฒนาสินค้า ทั้งจากการระดมความคิดเห็นในทีม ผ่านการโต้เถียงกัน และการยอมรับ จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำออกมาจำหน่ายได้จริง ซึ่งทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะเพิ่มมากขึ้น
ด้าน คุณรวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานบริหารฝ่ายการตลาด JD CENTRAL กล่าวว่า อยากให้โครงการนี้เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนเข้ามาร่วมกันทำงาน สร้างสินค้า เรียนรู้การขายสินค้าบนออนไลน์ เกิดรายได้จริง มีความภาคภูมิใจ จากที่เห็นสินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายมีความสร้างสรรค์ โดยการนำต้นทุนจากชุมชนมาพัฒนา ซึ่งตนเองได้อุดหนุนสินค้าเช่นกัน เช่น กระติบข้าวเหนียวเราก็ไม่ได้ใส่ข้าวเหนียวที่ใช้ประโยชน์ด้านเดียว เราสามารถนำมาปรับใช้เป็นกระถางต้นไม้ ก่อเกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยในอนาคตแน่นอนก็อยากจะร่วมมือทำประโยชน์ต่อไป เพื่อการทำงานกับสังคม ในฐานะ JD Central เรามีช่องทางมหาศาลที่พร้อมให้ความร่วมมือ ก็อยากจะช่วยเต็มที่
น้องขวัญ ด.ญ.จิตสุภา แซ่เล้า โรงเรียนแม่ตะละวิทยา จ.เชียงราย ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) แบรนด์ “Yus tsev อยู่เจ๋” ซึ่งมีความหมายว่า “บ้านเรา” การที่เลือกทำกระเป๋า เกิดจากการระดมความคิดร่วมกับพี่ๆ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี โดยต้นทุนของวัตถุดิบและแนวความคิดแสดงถึงประวัติศาสตร์การปักผ้าของชนเผ่า ซึ่งเป็นงานปักมือเป็นลายดั้งเดิมของชนเผ่า แต่ละใบจะมีเพียงใบเดียวในโลก โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเดิมเป็นการปักลายบนหมอนอิง จนถูกพัฒนาเป็นกระเป๋าถือจากผ้า (Clutch) ให้มีความเหมาะสมหลากหลายกับยุคสมัยได้ผสมผสานเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ที่สามารถเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านกระเป๋า ออกสู่ตลาดในช่องทางออนไลน์ที่จำหน่ายไปได้ทั่วโลก
นายณภัทร อภิศักดิ์ศิริกุล โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กล่าวว่า กระเป๋าถือจากผ้าปักลายม้งนั้นพัฒนาขึ้นจากหมอน ซึ่งเห็นได้ว่าน้อง ๆ มีทักษะเรื่องการปักผ้าลวดลายม้ง จึงนำลวดลายม้งมาใช้ และปรับรูปแบบสินค้าให้เป็นกระเป๋าถือที่สามารถใช้ประโยชน์และเป็นแฟชั่นได้ ซึ่งจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ตนได้เรียนรู้เป้าหมายการสร้างงาน การวางแผนการสร้างผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก