กมธ. วิทย์ฯ หนุน “โคราชโมเดล” เทงบวิจัยแก้จน ดันโครงการ “อีสานวากิว” พร้อมเร่งแก้ราคามันตกต่ำ

เมื่อเร็วๆนี้ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. วิทย์ฯ) และคณะร่วมเดินทางศึกษาดูงาน “การพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรฐานราก ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล มหาวิทยาลัย โดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน

โดยศาสตราจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนในฐานะ กมธ. วิทย์ฯ ตัวแทนของประชาชน อยากเห็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญเดียวกันคือการทำงานเพื่อประชาชน ให้ชาวบ้านคนตัวเล็กตัวน้อยมีรายได้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาคณะทำงานตระหนักดีว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เพิ่มรายได้ให้ผู้คน จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน

โดยที่ผ่านมา กมธ. วิทย์ฯ ได้ขับเคลื่อนการทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่จัดสรรงบประมาณสำหรับการวิจัยในพื้นที่ในกรอบใหญ่​ และเชื่อมโยงหน่วยงานบริหารจัดการทุนต่างๆมาร่วมทำงานกับ​ กมธ.วิทย์ฯ ตลอดจนหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และส่วนของจังหวัด โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา คณะทำงาน กมธ.วิทย์ฯ ได้เดินทางไปศึกษาพื้นที่และหนุนการดำเนินการในโครงการวิจัยต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก“บพท. หรือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่” ซึ่งเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านในจังหวัดนำร่อง ไม่ว่าจะเป็น จ.กระบี่ จ.สกลนคร จ.จันทบุรี ได้มาก ผมจึงคิดว่าจากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา มั่นใจว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่โคราช ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้เช่นเดียวกัน

ด้าน ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี ม.เทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันทางมหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการวิจัยสำคัญ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น มันสำปะหลังราคาตกต่ำ รวมถึงเพิ่มมูลค่าของเนื้อวัวที่เกษตรกรชาวโคราชนิยมเลี้ยง ในโครงการวิจัย “อีสานวากิว โคเนื้อคุณภาพสูง” เพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรขาดเงินทุน ขาดข้อมูลย้อนกลับ ขาดมาตรฐานการเลี้ยง ขาดโรงเชือดมาตรฐานและโรงตัดแต่ง ตลอดจนการขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อโคขุน โดยมีเป้าหมายระยะ 3 ปี คือ มีเกษตรกรเอสเอมอีเพิ่มขึ้น 80 ราย ภายใต้งบประมาณหนุน 48 ล้านบาท

นอกจากนี้ส่วนของมันสำปะหลัง ได้จัดทำโครงการ “แพลตฟอร์มต้นแบบการบริการจัดการการเพิ่มมูลค่ามันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.นครราชสีมา” เพื่อให้เกษตรกรมีทักษะการผลิตมันสำปะหลังคุณภาพสูงด้วยระบบน้ำหยด และเข้าใจวิธีการให้ปุ๋ยบนพื้นฐานการวิเคราะห์ค่าดินเป็น เพื่อลดทอนต้นทุนการผลิต ตลอดจนแปรรูปสารสกัดจากมันสำปะหลัง สร้างแพลตฟอร์มการเพิ่มมูลค่าสำปะหลังตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น อนึ่ง วันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานจัดสรรงบวิจัย อย่าง สกสว. และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ มีแผนและแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกันโดยมีเป้าหมายสำคัญคือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *