นักวิจัยม.ขอนแก่น กับงานวิจัย เปลี่ยนวุ้นมะพร้าวเป็นโฟมคาร์บอนดูดซับคราบน้ำมัน คว้ารางวัลสุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2020”

ผ่านไปแล้วกับเวทีการแข่งขันสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปี FameLab Thailand 2020 ที่ในปีนี้อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.สุปรีดิ์ พินิจสุนทร ได้คว้าแชมป์สุดยอดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำประเทศไทยในปีนี้ พร้อมกับทุนวิจัยของรางวัล Research Award ไปครอง เตรียมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในรอบชิงชนะเลิศระดับนานาชาติ FameLab International 2020 ที่ในปีนี้จะจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

รศ.ดร.สุปรีดิ์ พินิจสุนทร หรือ อาจารย์ดิว นักวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ ผู้สนใจด้านโลหะวิทยา และอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล่าถึงหัวข้อที่นำมาแข่งขันในครั้งนี้ “โฟมคาร์บอนนาโนสำหรับดูดซับคราบน้ำมันจากแหล่งน้ำเสีย” (Carbon Nano-Sponge for Oil Sorption from Polluted Water) ว่า ปัญหาเรื่องคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำเป็นปัญหาใหญ่มากของโลก พบทั้งในทะเล ในมหาสมุทร หรือแม้แต่ในแม่น้ำ อันเกิดจากการเทของเสียที่มีส่วนผสมของน้ำมันลงแหล่งน้ำโดยไม่ได้ผ่านการกรองหรือบำบัด ปัญหานี้มีนักวิจัยทั่วโลกให้ความสนใจและพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหานี้ โดยจากงานวิจัยที่ผ่าน ๆ มาจะพบว่า คาร์บอนมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนงานวิจัยของผมเองจึงทดลองนำแบคทีเรียเซลลูโลสวุ้นมะพร้าวมาแปรสภาพเป็นโฟมคาร์บอน โดยทำให้มีโครงสร้างแบบนาโน คือข้างในเป็นเหมือนโฟม มีโพรงอากาศเล็ก ๆ อยู่มากมายเพื่อประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมัน และดูดซับโลหะที่เป็นพิษต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ ซึ่งสาเหตุที่เลือกใช้วุ้นมะพร้าวก็เพราะว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตวุ้นมะพร้าวในปริมาณมาก และจะสะดวกต่อการขยายกำลังการผลิตในอนาคต

ในลำดับถัดไปได้วางแผนที่จะขยายผลงานวิจัย ด้วยการผลิตโฟมคาร์บอนในสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยอยากจะลองทำตัวโฟมคาร์บอนแบบใหญ่ขนาดประมาณ 10 ตารางเมตร ซึ่ง ณ ปัจจุบัน นักวิจัยที่ทำเรื่องนี้ส่วนมากจะติดอยู่ที่ขั้นตอนการทดสอบในห้องแล็บ เริ่มทดลองทำในบีกเกอร์ เมื่อผลลัพธ์ออกมาดีก็นำงานวิจัยออกมาตีพิมพ์ แต่ยังไม่ได้ขยายผลต่อไปเท่าไรนัก ซึ่งเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้คือต้องการที่จะสามารถผลิตตัวคาร์บอนนี้ได้ในปริมาณมาก ด้วยราคาต้นทุนที่ถูก มีประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมันดี และสามารถใช้ซ้ำได้เรื่อย ๆ รศ.ดร.สุปรีดิ์ กล่าวเสริม

รศ.ดร.สุปรีดิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการทำงานวิจัยแล้วการสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากขณะที่ทำวิจัย จะมีขั้นตอนที่ต้องขอทุนวิจัย ซึ่งการจะได้ทุนวิจัยดังกล่าวเราต้องสื่อสารให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความสำคัญของงานวิจัย และประโยชน์ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้จากงานวิจัยหากได้รับเงินทุน โดยได้รู้จักกับเวทีเฟมแล็บตั้งแต่เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ชม รู้สึกว่าการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก และตัวเราเองในฐานะอาจารย์และคนที่ทำงานวิจัยก็สามารถเล่าได้อย่างดี แต่ในปีนี้ที่ได้โอกาสเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันจริงกลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตั้งแต่การเรียบเรียงเรื่องให้สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย จนมาถึงการนำเสนอจริงบนเวที

“อยากให้อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรที่ทำงานในสายนี้ได้ลองออกมาพูดด้วยภาษาง่าย ๆ พูดให้คนทั่วไปฟังแล้วสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าแต่ละท่านกำลังทำงานอะไร และทำเพื่ออะไร เชื่อว่าแต่ละท่านมีผลงานระดับประเทศ ระดับโลก แต่ว่าบางทีก็ต้องพยายามสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปรับรู้ รวมไปถึงสื่อสารกับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้ทุนต่าง ๆ เพื่อโอกาสที่มากขึ้นที่งานวิจัยของเราจะได้รับความสนใจในวงกว้าง” รศ.ดร.สุปรีดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

เฟมแล็บ (FameLab) เวทีการสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปีที่จัดโดย บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ร่วมมือกับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อพวช. สวทช. สอวช. กลุ่มทรู และหน่วยงานพาร์ทเนอร์อีกมากมายจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ในประเทศไทย โดยการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ FameLab Thailand 2020 ในปีนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ มร.แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย ร่วมเปิดงาน และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน นอกจากนี้ยังมี เฌอปราง อารีย์กุล FameLab Ambassador ตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมชมการแข่งขัน ณ ทรู สเปซ ชั้น 4 ทรูคอฟฟี่ สยามสแควร์ ซอย 2 เมื่อเร็ว ๆ นี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ บริติช เคานซิล โทร. 02-657-2211 เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab และ www.facebook.com/britishcouncilthailand

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *