2 นวัตกรรม ม.รังสิต ได้รับคัดเลือกเป็นนวัตกรรมโดดเด่นระดับนานาชาติที่ตอบโจทย์ความต้องการสังคมช่วงโควิดนำร่องนวัตกรรมระดับนานาชาติ

คณะศิลปศาสตร์ ร่วมด้วย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดทำ 2 โครงการนวัตกรรม ได้แก่ โครงการที่ 1 นวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสออนไลน์  และโครงการที่ 2 การผลิตหน้ากากดำน้ำทดแทนหน้ากาก N95 ส่งประกวด ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกผู้พูดภาษาฝรั่งเศส (AUF) และได้รับคัดเลือกเป็น 2 โครงการนวัตกรรมโดดเด่นระดับนานาชาติที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในช่วงวิกฤติโควิด ทั้งนี้ มีผลงานด้านนวัตกรรมกว่า 2,000 โครงการจากมหาวิทยาลัยทั่วโลกจาก 79 ประเทศส่งเข้าประกวด และมีเพียง 8 โครงการ ซึ่งมาจากประเทศลาว ไทย เวียดนาม และฟิจิที่ได้รับคัดเลือก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยสุดา  ม้าไว คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะหัวหน้าโครงการนวัตกรรม กล่าวว่า สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ องค์กรความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศสมาชิกผู้พูดภาษาฝรั่งเศส (AUF) เรามีแนวคิดและแนวทางเหมือนกัน คือ เมื่อคิดโครงการอะไรขึ้นมา จะไม่ใช่โครงการที่ยังประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราจึงได้ริเริ่มการจัดทำเครื่องมือนวัตกรรมขึ้นมา เมื่อทางคณะศิลปศาสตร์เห็นว่า 2-3 คณะในมหาวิทยาลัยร่วมมือกันทำหน้ากากเฟสชิลด์ให้บุคลากรทางการแพทย์อยู่แล้ว เลยคิดว่าจะของบประมาณส่วนหนึ่งของ AUF ไปร่วมสนับสนุน หลังจากได้รับการตอบรับและรู้ว่าสามารถทำตรงนี้ได้ก็ดีใจ ที่ดีใจเป็นเพราะว่า มันตอบสิ่งที่เราตั้งใจไว้ว่า เงินทุนส่วนหนึ่งอยากนำไปช่วยพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นได้อย่างที่ใจคิด อยากจะพัฒนาให้การศึกษาไทยให้ยืนผงาดอยู่บนเวทีโลกให้ได้อย่างที่ใจหวังเอาไว้ แต่ขณะเดียวกัน พอมองไปเห็นคนที่ยอมอุทิศตัวเพื่อคนอื่น บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละทุกๆ อย่างด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบ จึงอยากจะช่วยอะไรให้ได้บ้าง เพราะฉะนั้นตรงนี้ มันเลยกลายเป็นโปรเจกต์ที่ผสานความตั้งใจทั้งมวล และทุนที่ได้รับเป็นพลังให้เราคิดทำอะไรดีๆ ต่อไป จะตั้งใจทำโปรเจกต์นี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  สำหรับงบประมาณที่ได้รับจาก AUF นี้ โครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก AUF เป็นกำลังใจสำคัญในการทำงานที่เกินไปจากคำว่าหน้าที่ การเป็นครูไม่ใช่มีหน้าที่เพียงสอนหนังสือ แต่เป็นการทุ่มเทใจ ความคิดและกำลังในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่ลูกศิษย์และสังคม เวลาทำงานกับองค์กร AUF แล้ว รู้สึกว่าสบายใจ คือเป็นงานที่จะมีกรอบกว้างๆ เป็นนโยบายของ AUF แต่เราสามารถคิดสร้างสรรค์และทำในเรื่องที่เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มเป้าหมายของเราได้ ไม่ได้เหมารวมว่าทุกคน ทุกพื้นที่ในโลกจะต้องมีแนวทางเดียวกันทั้งหมด แบบนี้จะเป็นการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงและเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน  สำหรับผู้เรียนและผู้สอน AUF ไม่ได้กำหนดเลยว่าโครงการนวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสออนไลน์  ที่ได้รับการอนุมัติจะต้องมีโมเดลแบบไหน ณ ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ AUF ให้เราคิดแก้ปัญหาระดับที่ใหญ่ขึ้น คือ เป็นการแก้ปัญหาในระดับประเทศ ขยับไปถึงระดับภูมิภาค แล้วถ้าหากมีความเป็นไปได้ก็จะขยายไปเป็นระดับโลก เพราะฉะนั้น กลุ่มคนทำงานโครงการนวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสออนไลน์  จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยรังสิตแล้ว แต่จะเป็นโครงการ เป็นงานวิจัย และเป็นความร่วมมือที่เปิดขอบฟ้า เปิดมิติใหม่ของการศึกษา ในวิกฤติมักจะมีโอกาสเสมอ ขอขอบคุณโควิดที่เปิดโอกาสให้ได้ตระหนักคิดในเรื่องเหล่านี้ และขอขอบคุณ AUF ที่เข้าใจและเป็นกองหนุนสำคัญ”

มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งที่ได้เสนอโครงการต้านโควิด และได้รับการสนับสนุนจากองค์กร AUF เป็นโครงการสร้างระบบคัดกรอง COVID-19 โดยนักวิจัยหน้าใหม่ของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันวิจัยและพัฒนา (IRD) พยายามที่จะจัดตั้งกระบวนการที่ปลอดภัยสำหรับการรวบรวมและขนส่งตัวอย่างและเพื่อพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับการจัดการการนัดหมาย การระบุตัวอย่างและการจัดส่งผลลัพธ์ ทีมงานโครงการหวังว่าในอนาคตอันใกล้จะสามารถนำนวัตกรรมไปปรับใช้ในจังหวัดอื่นในประเทศไทย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายสำคัญขององค์กร AUF คือการช่วยสนับสนุนมหาวิทยาลัยสมาชิกเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบสุขภาพ และอนามัยและพร้อมต่อสู้กับโรคระบาดโควิด 19  โครงการต่างๆ ที่ได้รับคัดเลือกจะต้องเป็นโครงการที่ยังประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งในระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การศึกษา เทคโนโลยี เศรษฐกิจหรือสังคม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *