ระบบพี่เลี้ยง มทร.ธัญบุรี “สอนมัดย้อม” สร้างอาชีพยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสะอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ให้การส่งเสริม สนับสนุน ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพร แสงสว่าง หัวหน้าศูนย์ฯ เผยว่า การดำเนินการ ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีในฐานะสถาบันพี่เลี้ยง ได้ดำเนินการโดยศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพครู พัฒนานักเรียน และพัฒนาชุมชน สังคม เพื่อสนองตอบนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้มียุทธศาสตร์ของการดำเนินงานระบุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Objective and Key Result: OKR) ใน “การเตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 พัฒนาเศรษฐกิจที่กระจายโอกาสอย่างทั่วถึง สังคมที่มั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งทางนวัตกรรมระดับแนวหน้าในสากล นำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ให้มีรายได้และอาชีพที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและสังคม ด้วยการพัฒนาทางการศึกษา เช่น เสริมสร้างศักยภาพครูในการจัดการเรียนการสอน การออกแบบแผนและกิจกรรมการสอน การผลิตสื่อการสอนสู่ผู้เรียน ทำให้นักเรียนมีประสิทธิภาพทางการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และเกิดทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง

กิจกรรมสีสันบนผืนผ้า สร้างอาชีพแต่เยาว์วัยของโรงเรียนวัดสมุหราษฏร์บำรุง ดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียน ประจำปี พ.ศ.2563 ซึ่งมีพี่เลี้ยงประจำโรงเรียน คือ นางอัชฎาชนก สุขชิด นักวิชาการศึกษาประจำศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนรู้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนในการพัฒนาครูด้วยกระบวนการ PLC และออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ตามกระบวนการ Active Learning เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ที่มีกระบวนการคิด เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วยการลงมือปฏิบัติ (Hands On) กิจกรรมเป็นการฝึกทักษะอาชีพ ส่งเสริมการมีงานทำ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเชิงพื้นที่เสริมสร้างรายได้และอาชีพ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดนวัตกรรมจัดการเรียนการสอน การทำผ้ามัดย้อมสร้างอาชีพสู่ความยั่งยืน โดยมี อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ คณะศิลปกรรม สาขาจิตกรรม เป็นวิทยากร ร่วมพัฒนา “กิจกรรมสีสันบนผืนผ้า ปลูกฝังอาชีพแต่เยาว์ เพื่อชุมชนยั่งยืน โรงเรียนวัดสมุหราษฏร์บำรุง” การสร้างสรรค์อาชีพในชุมชนโรงเรียนวัดสมุหราษฏร์บำรุง

ทางด้าน นางเสาวณีย์ สมบูรณ์ศิโรรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสมุหราษฏร์บำรุง เผยว่า โรงเรียนขาดครูสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ทางวิชาชีพให้กับนักเรียน โรงเรียนสำรวจพบสภาพปัญหาว่า เมื่อนักเรียนจบมัธยมออกไปไม่ได้ศึกษาต่อ บางคนว่างงานไม่มีอาชีพ โรงเรียนได้รับความช่วยเหลือ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชงคลธัญบุรี ที่ได้ส่ง คณาจารย์มาช่วยสอน และพัฒนาศักยภาพครู 19 คน ให้มีทักษะความรู้ความสามารถนำไปพัฒนานักเรียน ช่วยให้นักเรียนมีความรู้ทางด้านทักษะอาชีพ การทำผ้ามัดย้อมจำหน่วย และนำไปต่อยอดเป็นอาชีพเป็นในครอบครัวได้ทำให้เกิดความเข้มแข็งให้กับคนในชุมชน และสร้างสังคมที่ดีมีรายได้ สิ่งที่สำคัญที่สุด การบูรณาการความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะการออกแบบ ให้เข้ากับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในการจัดเรียนการสอน การส่งเสริมนักเรียนให้มีรายได้ โดยทางโรงเรียนจะต่อยอด การทำผ้ามัดย้อม ไปสร้างสินค้าในรูปแบบของขวัญ และวางจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์จากนักเรียน และทำให้นักเรียนมีรายได้ ด้วยการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของนักเรียนเองบริเวณตลาดนัดในวันพฤหัสบดีและพื้นที่ใกล้เคียง การทำผ้ามัดย้อมจะสามารถนำไปสร้างเอกลักษณ์ให้โรงเรียนโดยให้นักเรียนทั้ง 210 คน ใส่เสื้อมัดย้อมที่ทำขึ้น

อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ บอกว่า คุณครูทุกคนที่เข้าอบรมมีจิตวิทยาทางด้านการสอน เมื่อลงมือทำผ้ามัดย้อม และนำไปถ่ายทอดให้กับเด็ก ๆ ทำให้ทั้งสองสิ่งลงตัว สามารถบูรณาการต่อยอดในวิชาเรียนได้ การทำผ้ามัดย้อมมีความเป็นเอกลักษณ์ลวดลาย ในวันนี้ได้สอนเทคนิคการมัด และการย้อมสี ให้กับคุณครูและนักเรียน ทุกคนให้ความสนใจและตั้งใจเรียน

นายธนวัฒน์ สุวรรณเหลา ครูผู้ช่วยสอนคอมพิวเตอร์ บอกว่า การได้เรียนรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ได้รับเทคนิคเชิงลึก ซึ่งบางเทคนิคหาข้อมูลไม่ได้ ถ้าคุณครูมีความชำนาญนำทักษะไปถ่ายทอดให้เด็ก ๆ ต่อยอดเป็นสินค้าให้กับทางโรงเรียน ส่วนตัวมีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ บูรณาการในวิชาเรียนด้วยการหาช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ต่อไป

“น้องปอนด์” เด็กชายวรพจน์ ฝ้ายใจดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่1 บอกว่า ชอบเสื้อมัดย้อม โดยมีหนึ่งตัวซื้อมาจากตลาดนัด ส่วนตัวคิดว่าแค่นำเสื้อไปจุ่มลงในสี จะได้เสื้อออกมาเลย แต่เมื่อได้มาเรียนร่วมกับคุณครูในวันนี้ มีขั้นตอนเทคนิคต้องทำการมัดเสื้อ ลงสี และทิ้งไว้ การเสื้อหนึ่งตัวต้องใช้เวลา ลวดลายของเสื้อแต่ละตัวไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่ที่วิธีการมัดผ้า

…………….

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *