เตรียมเฮ! สพฐ. จ่อลดการบ้านโรงเรียนทั่วประเทศ

 

เลขาธิการ กพฐ.เผย มอบสำนักวิชาการฯ เตรียมปรับลดการบ้าน-ลดเวลาเรียน พร้อมร่วมถกข้อดีข้อเสียกับโรงเรียนขนาดใหญ่

 

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ฝากการบ้านให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปรับเรื่องการลดการบ้าน และลดการสอบวัดประเมินผลของนักเรียนนั้น ขณะนี้ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับข้อสั่งการจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มาแล้วที่จะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยการปรับปรุงเรื่องนี้มีจุดเน้น 3 เรื่อง คือ ลดการบ้าน ปรับวิธีการวัดผลและประเมินผล และการลดเวลาเรียนในห้องเรียน ซึ่งได้มอบหมายใหัสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา และสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำรายละเอียดปรับปรุงแก้ไขต่อไป

 

ทั้งนี้ เลขาธิการกพฐ.ยังกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ระหว่างการจัดทำรายละเอียดได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ร่วมกับโรงเรียนอัตราแข่งขันสูง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ จำนวน 281 แห่ง เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้จัดการเรียนการสอนเน้นหนักด้านวิชาการและให้การบ้านค่อนข้างหนัก ดังนั้นเราจะมาฟังเสียงสะท้อนว่าหากปรับลดการบ้านโรงเรียนมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและวิเคราะห์ทางออกร่วมกับโรงเรียน โดยเราจะไม่สั่งการอย่างเดียวแต่จะรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้จากนั้นจะแจ้งให้เขตพื้นที่รับทราบสู่แนวทางการปฎิบัติต่อไป

 

“เมื่อมีการปรับลดการบ้านและลดชั่วโมงเรียนจะต้องดำเนินการให้สอดรับกับการวัดผลและประเมินผล โดยที่เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างครบถ้วนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าการบ้านเด็กจะต้องลดลง เพราะปัจจุบันการเรียนรู้ของเด็กมีอย่างหลากหลายในการค้นหาข้อมูล หากเปรียบเทียบกับสมัยก่อนที่เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้กับครูผู้สอนและหนังสือเรียนเท่านั้น

 

สำหรับการปรับลดการบ้านเบื้องต้นเราวางโครงสร้างลักษณะอยากจะให้เด็กเรียนรู้และทำแบบฝึกหัดในห้องเรียน และมอบหมายให้เด็กไปค้นคว้าหาความรู้เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการเรียนในวันถัดไปมากกว่า ส่วนข้อสอบจะเป็นอัตนัย และใช้การประเมินผลจากกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งการดำเนินการในรูปแบบนี้เปรียบเหมือนกับห้องเรียนกลับด้าน เป็นการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนศึกษาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตนอกห้องเรียน นอกเวลาเรียน ส่วนในห้องเรียนจะเป็นการจัดกิจกรรมอื่นๆแทนที่ส่งเสริมการเรียนรู้” เลขาธิการกพฐ.กล่าว

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-https://www.dailynews.co.th/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *