จุฬาฯ เร่งสนับสนุนนิสิตให้เรียนรู้ทันยุคผ่านวิชาใหม่ “กฎหมายเสรีภาพกับการชุมนุม”

ปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์ซึ่งเป็นความ   ท้าทายของมหาวิทยาลัยในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค          โควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งเสริมการเรียนรู้ของนิสิตโดยจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในรายวิชาต่างๆ รวมถึงในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ซึ่งมีการเปิดรายวิชาต่างๆ ให้นิสิตได้เลือกเรียนตามความสนใจและตอบโจทย์ความรู้ที่จำเป็น

ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม จุฬาฯ เปิดเผยว่ารายวิชาศึกษาทั่วไป หรือ GenEd มุ่งสร้างโอกาสให้นิสิตได้เรียนวิชาต่างๆ นอกเหนือไปจากศาสตร์ที่เรียนอยู่ในคณะ สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แบ่งกลุ่มวิชาออกเป็น 7 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สุขภาพกายและสุขภาพจิต นันทนาการและการท่องเที่ยว  การเตรียมพร้อมสู่การทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน ความเป็นไทย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน  รวมไปถึงกลุ่มวิชาสำหรับศตวรรษที่ 21 และกลุ่มวิชา Next GenEd วิชาศึกษาทั่วไปจึงเป็นสหวิทยาการทั้งรายวิชาและผู้เรียนที่มาจากหลากหลายคณะ ตอบโจทย์ “เรียนให้รู้ ดูให้เป็น เน้นการพัฒนา” ทำให้นิสิตมีความรู้เท่าทัน เกิดทักษะชีวิต และการเข้าใจโลกในมุมมองที่ต่างออกไป นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมหลักสูตรการศึกษาทั่วไประยะสั้น CUVIP สำหรับนิสิตจุฬาฯ นิสิตเก่า คณาจารย์และบุคลากรจุฬาฯ ใช้เวลาเรียนเพียง 2-3 ชั่วโมง        มีแบบฝึกหัดทดสอบและเมื่อเรียนจบจะได้รับใบประกาศนียบัตร ในอนาคตมีโครงการที่จะเปิดให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้เข้าเรียนได้ด้วย

ศ.ดร.ปาริชาตกล่าวต่อไปว่า ในภาคการศึกษานี้จุฬาฯ ได้เปิดสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปวิชาใหม่จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ชื่อวิชา “เสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย” เพื่อให้ความรู้ในประเด็นที่นิสิตนักศึกษากำลังตื่นตัว นั่นคือความสนใจในมิติของสังคมและการเมือง นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญ  ผู้เรียนจะเข้าใจในหน้าที่และคุณค่าของเสรีภาพในการชุมนุมในสังคมประชาธิปไตย มาตรฐานสากลในการจัดการชุมนุมในที่สาธารณะ การดูแลฝูงชน ฯลฯ ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มรายวิชานี้ในหลักสูตร CUVIP เพื่อเพิ่มพื้นที่ในเชิงวิชาการให้    คนทั้งในวัยผู้ใหญ่และเด็กได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม

อ.ดร.พัชร์ นิยมศิลป คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ผู้สอนรายวิชา“เสรีภาพในการชุมนุม    กับกฎหมาย” เปิดเผยว่า วิชานี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับคุณค่าของเสรีภาพในการชุมนุม มาตรฐานสากลในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ โครงสร้างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะที่ใช้ในประเทศไทย สอดแทรกในเรื่องหลักกฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญที่วางกรอบในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของคนไทย เปรียบเทียบให้เห็นภาพในหลักสากลของการชุมนุมสาธารณะที่ใช้ในประเทศเสรีประชาธิปไตยกับประเทศที่ไม่ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เสรีภาพในการชุมนุมกับกลไกทางการเมือง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมสาธารณะเป็นกลไกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความรุนแรงเสมอไป

“วิชานี้ถือเป็นวิชาใหม่ที่จุฬาฯ เปิดสอนเป็นที่แรก มีจุดประสงค์เพื่อให้นิสิตที่จะไปเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทยในอนาคตรู้ถึงกติกาสากล  และใช้เสรีภาพได้ตรงกับมาตรฐานสากล วิชานี้ได้รับความสนใจจากนิสิตลงทะเบียนเรียนจนครบจำนวนอย่างรวดเร็ว ผู้เรียนมาจากหลากหลายคณะทั้งสายสังคมศาสตร์และสายวิทยาศาสตร์ โดยเรียนผ่านระบบออนไลน์ มีการบรรยายและมีตัวอย่างให้นิสิตคิดวิเคราะห์ และอภิปราย นอกจากวิชา “เสรีภาพในการชุมนุมกับกฎหมาย” ซึ่งเป็นวิชาศึกษาทั่วไปแล้ว ยังมีวิชา“กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ” ซึ่งเป็นวิชาเรียนของคณะนิติศาสตร์ที่ผมเป็นผู้สอนอีกด้วย” อ.ดร.พัชร์ กล่าวในที่สุด

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *