IDE Center ร่วมกับ สอวช. จัดอบรมพัฒนาเชิงทดลอง หนุนผู้ประกอบการขับเคลื่อนนวัตกรรม

ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดกิจกรรม IDE Node Progress Meeting ณ โรงแรม เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก​ ภายในงานมีเครือข่ายผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (Node Core Team) และ IDE Node รุ่น 2 จำนวนกว่า กว่า 13 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดสุพรรณบุรี, มหาวิทยาลัยมหิดล, Health Teach, ผู้ประกอบการ จ.นครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี, อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), Knowledge Xchange, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, ผู้ประกอบการ จ. ราชบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เพื่อการประชุมความคืบหน้างาน “IDE Node Progress Meeting” อบรมการพัฒนานโยบายเชิงทดลองเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ชัชนาถ เทพธรานนท์ ที่ปรึกษาผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่าง IDE มหาวิทยาลัยและสอวช.  เน้นกระบวนการคิดของ IDE ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเสนอความเห็นต่อสภานโยบายเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนด้านการอุดมศึกษาและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาศัยภาพของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมชุมชนในด้านต่างๆ นั้น และยิ่งไปกว่านั้น คือ ความตั้งใจของ IDE Node ที่มีคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ และการสร้างระบบนิเวศการประกอบการ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า โดยการสร้างระบบนิเวศของการประกอบการที่เอื้อต่อการเกิดของวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จะต้องประสานความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้ง 5 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ซึ่งการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สามารถเสริมสร้างให้เกิดการดำเนินการที่สามารถผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และเป็นไปตามกรอบของ MIT Reap ที่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ศึกษา มีประสบการณ์ในการเรียนรู้แพลตฟอร์มดังกล่าวกับมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซส ประเทศสหรัฐอเมริกา”

ผศ.ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการ IDE Center มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ผลการดำเนินงานของการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชน (IDE Node)ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา IDE Center ร่วมกับสอวช. ได้สร้างสรรค์ระบบนิเวศทางการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Ecosystem) เพื่อผลักดันให้ Node ทั่วประเทศได้เริ่มดำเนินโปรเจค เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางการประกอบการไปยังชุมชนของตนเองในรูปแบบต่างๆ  ในขณะเดียวกันเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ นั้น IDE Center ดำเนินการจัดการอบรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการแบบออนไลน์ (REAP Foundation) พัฒนากิจกรรมอบรมรากฐานความเข้ากรอบการพัฒนาระบบนิเวศทางการประกอบการ เพื่อความเข้าใจและการดูแลอย่างทั่วถึงในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ และเราจะก้าวไปกับคุณ จนกว่าคุณจะหยุดเดิน”

ทั้งนี้ IDE Center ได้รับเกียรติจากดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มอบรางวัล IDE Node Wow Award ให้กับทีม Node ที่มีการพัฒนาต่อไอเดียนวัตกรรมพัฒนาชุมชน 2 ทีม ได้แก่ (1) ทีม Node วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร โดยการสร้างชุมชนผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรีโดยสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน ทำให้เห็นภาพมิติของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต อีกทั้งได้เล็งเห็นโอกาสกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องสูตรอาหาร เพราะผู้สูงอายุนั้นก็ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสูตรอาหารรสเลิศเลยก็ว่าได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเพื่อประยุกต์เป็นการสร้างร้านอาหารสำหรับผู้ประกอบการเท่านั้น อาจจะเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ เพื่อพบปะรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ และ (2)ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในทีมที่ได้ลองผิดลองถูกหาหามุมมองในการสร้างนวัตกรรมชุมชน โดยการสำรวจข้อมูล (Internet Explore) มองหาไอเดียต่างๆ ที่อยู่ในบริบทแวดล้อมของชุมชนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น หรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนแต่ยังขาดการต่อยอด จนกระทั่งไปพบกับวัชพืชชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า ชะคราม หลังจากนั้นก็ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบไม่เป็นการทางเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยการเริ่มต้นพูดคุยกับชาวบ้าน และเก็บตัวอย่างชะครามติดมือมาทดลองในรูปแบบต่างๆ เพื่อนค้นหาวิธีการเก็บรักษา หรือการนำมาประกอบอาหารในเมนูต่างๆ  จะเห็นได้ว่าแนวคิดของผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความทันสมัยของเทคโนโลยี ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนที่ IDE ช่วยตอกย้ำและให้ความสำคัญมากที่สุด คือ  การออกไปสำรวจ และสังเกต สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมบริบทโดยรอบของพื้นที่ต่างๆ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *