รีวิวการเรียน “วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม”

ถ้าพูดถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์แล้วละก็ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในคณะที่น้อง ๆ หลายคนสนใจ คณะนี้มีสาขาวิชาที่เจาะลึกการเรียนในแต่ละด้าน วันนี้พี่จะขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับ สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม ที่หลายคนคงเข้าใจว่าเรียนจบมาแล้วทำงานเป็นวิศวกรปิโตรเลียมอยู่กลางทะเล ตามมาดูดีกว่าว่าสาขานี้เขาเรียนอะไรบ้าง พร้อมกับอ่านข้อมูลที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้เลย

 

วิศวกรรมปิโตรเลียม เรียนอะไรบ้าง ?

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าวิศวกรปิโตรเลียม จะทำงานเกี่ยวกับ การเจาะและการผลิตน้ำมันหรือก๊าชธรรมชาติขึ้นมาจากแหล่งกักเก็บใต้ผิวดินที่สำรวจพบ นั่นคือหากมีการสำรวจพบชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตได้ ก็จะเป็นหน้าที่ของวิศวกรที่จะพิจารณาและพัฒนาหาวิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้สามารถผลิตปิโตรเลียมได้ในปริมาณที่ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดต่อเงินลงทุนมหาศาลที่ลงทุนไป เรามาดูกันดีกว่าว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้น สาขานี้เขาเรียนอะไรกันบ้าง

  • หมวดธรณีวิทยา

เรียนทางด้านธรณีวิทยาทั่วไป และธรณีวิทยาของแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจะได้เข้าใจถึงโครงสร้าง และลักษณะของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมประเภทต่าง ๆ

  • หมวดเจาะหลุม

เรียนการออกแบบหลุมปิโตรเลียม วิธีการเจาะ การป้องกันการพลุ่งของปิโตรเลียม การลงอุปกรณ์ที่ใช้ในหลุม และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บบันทึกระหว่างหรือหลังการเจาะ

  • หมวดการผลิต

เรียนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต การกระตุ้นการผลิต การผลิตโดยแรงดันธรรมชาติ การช่วยการผลิตเมื่อแรงดันลดลง การคำนวณการไหลของปิโตรเลียมในท่อผลิตและท่อส่ง

  • หมวดแหล่งกักเก็บ

เรียนรู้ลักษณะและคุณสมบัติต่าง ๆ ของปิโตรเลียมและแหล่งกักเก็บ การไหลของปิโตรเลียมเข้าสู่หลุม การคำนวณปริมาณสำรอง การลดลงของอัตราการผลิต การผลิตขั้นทุติยภูมิโดยการอัดน้ำแทนที่

 

แนวทางประกอบอาชีพ

ความก้าวหน้าในอาชีพนี้มีแน่นอน เพราะสามารถพัฒนาตนเองในแนวทางที่ตนเองพอใจได้ ที่สำคัญคือการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ ทำให้อาชีพนี้ถูกพัฒนาออกไปอย่างไม่มีขีดจำกัด อาชีพที่คนเรียนจบวิศวกรรมปิโตรเลียม สามารถเข้าทำงานได้

  1. ราชการ หรือ หน่วยงานในกำกับของรัฐ ได้แก่ กองเชื้อเพลิง กรมทรัพยากรธรณี, กรมพลังงานทหาร, อาจารย์มหาวิทยาลัย
  2. บริษัทน้ำมัน ได้แก่ ปตท. สำรวจและผลิต, Thai Shell, Unocal, Chevron
  3. บริษัทเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมน้ำมัน บริษัทจำพวก service companies ได้แก่ Schlumberger, Halliburton, Baker Hugh, BJ Service, Scientific Drilling และอื่น ๆ

 

 อัตราเงินเดือน

นอกจากความก้าวหน้าในสายงานจะสูงแล้ว รายได้ที่ได้รับก็สูงด้วยเนื่องจากเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างความเจริญต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นที่ต้องการสูง วิศวกรปิโตรเลียม มีรายได้ทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 25,000 – 35,000 บาท/เดือน ถ้าออก field ก็มีเงินพิเศษให้อีก หลายคนบริษัทจองตัวล่วงหน้าถึง 4 เดือนก่อนจบ แถมให้ sign-up bonus อีกนับแสนบาท หากได้ทำงานกับบริษัทต่างชาติ หากทำงานต่างประเทศก็จะได้เงินเดือนราว ๆ 200,000 บาท

 

คณะ/สาขา แต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา
  • คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาธรณีศาสตร์ปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สาขาเทคโนโลยีปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สาขาวิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีธรณี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

ใช้คะแนนอะไรบ้างในการสอบเข้า

ต้องบอกก่อนเลยว่าแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์กำหนด ว่าจะต้องใช้สัดส่วนคะแนนไหนเท่าไหร่บ้าง แต่หลัก ๆ แล้วการสอบเข้าก็จะใช้คะแนนตามนี้เลย

  • GPAX 5 หรือ 6 เทอม ไม่ต่ำกว่า 2.50
  • GAT
  • PAT2 (คณิตศาสตร์)
  • PAT3 (วิศวกรรมศาสตร์)
  • O-NET

 

เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เท่ห์ไม่เบาเลยทีเดียว น้อง ๆ ผู้ชายเรียนแล้วก็เท่ห์ ส่วนน้อง ๆ ผู้หญิงก็เรียนได้เหมือนกันนะ เท่ห์กินกันไม่ลงเลยทีเดียวเชียว

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: True ปลูกปัญญา และ Admission Premium

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *