นักศึกษามทร.ธัญบุรี เรียนรู้ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ต่อยอดสู่อาชีพในอนาคต

นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.ธัญบุรี) เรียนรู้ผ้ามัดย้อมธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ Nano Satu ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

นายธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ (นะโม) หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ Nano Satu เล่าว่า ทางศูนย์เปิดให้หน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาศึกษา เรียนรู้เพิ่มเติมการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ จากวัสดุในท้องถิ่น เน้นการย้อมเย็น สีธรรมชาติของทางศูนย์ เช่น มังคุด มะเกลือ และคราม โดยครามทางศูนย์ปลูกและสกัดสีเอง สำหรับการมัดย้อมผ้า มีทั้งการย้อมจากสีเคมี และสีธรรมชาติ สีเคมีจะราคาถูกกว่า ลวดลายสีสันจะสวยกว่า แต่สีธรรมชาติ จะมีกลุ่มเฉพาะคนที่ชอบ ด้วยบางคนแพ้เคมี จึงต้องการอะไรที่เป็นธรรมชาติ ทุกวันนี้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น สีธรรมชาติได้รับความนิยม แต่ละพื้นที่สีที่ได้ออกมาก็แตกต่างกัน  สำหรับการเรียนรู้ในวันนี้ น้อง ๆ ได้เรียนรู้ในส่วนของพืชให้สี การสกัดสี เทคนิคการมัดลวดลายผ้า และเทคนิคการย้อม สิ่งที่น้อง ๆ เรียนรู้สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนจิตรกรรมในส่วนของสี หรือว่าบางคนนำไปพัฒนาเป็นอาชีพในอนาคตต่อไป ผู้ที่สนใจทางศูนย์ยินดีถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานที่สนใจ สามารถติดต่อมาทางศูนย์โดยตรง

“คุ” นายคุณานนต์ ประศาสนานันท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม เล่าว่า เลือกเรียนวิชานี้เพราะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้ มองว่าผ้ามัดย้อม และผ้าบาติก กำลังได้รับความนิยม มาเรียนรู้การมัดย้อมสีธรรมชาติในวันนี้ รู้สึกถึงธรรมชาติ สีธรรมชาติดีต่อสุขภาพ ไม่มีสารตกค้าง ในห้องเรียนเรียนสีเคมี มีความทันสมัย ซึ่งทั้งสองมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน

“มุข” นางสาวรัตนาทิพย์ ฉายชัยภูมิ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาจิตรกรรม เล่าว่า ได้รับความรู้และเทคนิคในการมัดผ้าลวดลายต่าง ๆ เพิ่มเติม สีธรรมชาติ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว วันนี้ได้ย้อมสีจากเปลือกมังคุด และมะเกลือ สีที่ได้ออกมาคือสีน้ำตาลจากเปลือกมังคุด สีดำจากมะเกลือ ซึ่งสีทั้งสองสวยเป็นธรรมชาติ อาจารย์ยังแนะนำให้ลองนำดินมาทำเป็นสี ใช้กับงานศิลปะที่เรียน จะได้สีของดินที่แตกต่างจากสีเคมีที่ใช้อยู่ โดยจะนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ต่อไป

ทางด้าน อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำวิชาการออกแบบตกแต่งผ้าและการย้อม เพิ่มเติมว่า อยากให้นักศึกษามีประสบการณ์ตรงในการย้อมสีธรรมชาติ ได้เรียนรู้ถึงพืชที่ให้สีใกล้ตัว สามารถนำมาย้อมได้ เพราะว่าในห้องเรียนสอนย้อมจากเคมีแล้ว นักศึกษาให้ความสนใจ ได้หาข้อมูลพานักศึกษาลงพื้นที่ นอกจากนี้ยังเกิดความสามัคคีกับชุมชนร่วมกันพัฒนาต่อยอดศิลปะการมัดย้อมสีธรรมชาติให้คงอยู่ตลอดไป

………………

ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *