รีวิวการเรียน “คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา”

มาแล้ว ๆ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ฝันอยากจะเป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง อาคารหรือตึกต่าง ๆ หรือแม้แต่การบริหารจัดการการก่อสร้าง ต้องมารวมตัวกันเลย วันนี้พี่จะขอพาน้อง ๆ ไปทำความรู้จักกับสาขาวิศวกรรมโยธา อยากรู้ว่าสาขานี้ต้องเรียนอะไรบ้าง เรียนจบแล้วทำงานอะไร ตามมาอ่านได้เลยจ้า

วิศวกรรมโยธา เรียนอะไรบ้าง ?

เป็นสาขาหนึ่งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา สิ่งปลูกสร้างที่มนุษย์เป็นผู้ที่สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น การสร้างตึก อาคาร สะพาน ถนน ระบบขนส่ง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตลอดจนการทำรังวัดในงานสำรวจและแผนที่ รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ นอกจากนี้ยังจะต้องเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการงานก่อสร้างอย่างถูกวิธีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด วิชาย่อยของวิศวกรรมโยธาที่น้อง ๆ จะได้เรียนมีดังนี้

  1. วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering)

วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับการออกแบบและคำนวณสิ่งก่อสร้างชนิดต่าง ๆ ดังนั้นการศึกษาในสาขานี้จะเน้นไปทางด้านงานคำนวณวิเคราะห์ ออกแบบโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง และแรงต้านทานของวัสดุ เพื่อหาวัสดุและขนาดของวัสดุที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ งานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การก่อสร้างอาคาร เขื่อนหรือสะพาน เป็นต้น

  1. วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ

วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ (Construction Engineering and Management) ศึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเป็นหลัก โดยเน้นศึกษาทางด้านระบบการสร้างอาคาร การวางแผนงาน การประเมินราคาค่าก่อสร้าง นอกจากนี้ ในบางสถาบันจะมีการสอนเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ และระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร

  1. วิศวกรรมขนส่ง

วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering) การศึกษาแยกเป็น 2 สาขาหลัก คือ ระบบและวัสดุ โดยงานทางด้านระบบจะเน้นทางด้านการวางผัง การจราจร และการจัดการทางด้านงานจราจร โดยทำการศึกษาถึงประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบถนน สำหรับงานทางด้านวัสดุจะเน้นในการศึกษาวัสดุในการทำถนน ได้แก่ คอนกรีตและยางมะตอย เป็นหลัก โดยศึกษาถึงกรรมวิธีในการสร้างถนนและปรับปรุงถนน

  1. วิศวกรรมเทคนิคธรณี

วิศวกรรมเทคนิคธรณี (Geotechnical engineering) ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์และวิศวกรรมของดิน เพื่อนำมาการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธา

  1. วิศวกรรมธรณี

วิศวกรรมธรณี (Geological engineering) ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติทางด้านฟิสิกส์ วิศวกรรมของหิน และธรณีวิทยาประยุกต์ เพื่อการวิเคราะห์ ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมโยธาและเหมืองแร่

  1. วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (Environmental Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในน้ำและในอากาศ การปรับปรุงคุณภาพของของเสียต่าง ๆ

  1. วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ

วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ (Water Resource engineering) ศึกษาเกี่ยวกับงานทางด้านแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำฝน และระบบการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างคูน้ำ คลอง และแม่น้ำ อีกด้วย

  1. วิศวกรรมสำรวจ

วิศวกรรมสำรวจ (Survey Engineering) ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำรังวัดและงานทางด้านสำรวจ สำหรับใช้ในทางด้านแผนที่ รวมถึงการศึกษาทางด้านจีพีเอส (GPS) และภูมิสารสนเทศ (Geoinformatics หรือ Geographic information system : GIS)

 

แนวทางการประกอบอาชีพ

  • วิศวกรก่อสร้าง
  • วิศวกรโครงการ
  • วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ
  • วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง
  • ทำงานในหลาย ๆ บริษัท เช่น บริษัทวิศวกรที่ปรึกษา บริษัทผลิตภัณฑ์วัสดุ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฯลฯ

 

คณะ/สาขาแต่ละมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง
  • สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

 

ใช้คะแนนอะไรบ้างในการสอบเข้า

ต้องบอกก่อนเลยว่าแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์กำหนด ว่าจะต้องใช้สัดส่วนคะแนนไหนเท่าไหร่บ้าง แต่หลัก ๆ แล้วการสอบเข้าก็จะใช้คะแนนตามนี้เลย

  • O-NET
  • 9 วิชาสามัญ
  • GAT ความถนัดทั่วไป
  • PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์
  • PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์
  • PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์

 

ขอบคุณข้อมูลจาก: Campus-star.com และ Admission Premium

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *