บินตรงจากอเมริกาศึกษาต่อสาขาการจัดการธุรกิจสายการบิน ม.หอการค้าไทย
อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน สจ๊วตและแอร์โฮสเตสเป็นสิ่งที่หลายคนอยากได้สัมผัสและทำอาชีพนี้ ถึงแม้ช่วงเวลาการทำงาน ของอาชีพแอร์โฮสเตส-สจ๊วตมีความไม่แน่นอนก็ตาม แล้วแต่ตารางบิน หรือ รอสเตอร์ (Roster) ของเดือนนั้นๆ ซึ่งแต่ละเดือน สายการบินจะแจ้งตารางบินให้ลูกเรือทราบล่วงหน้า แต่ยังเป็นอาชีพที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันและมุ่งมั่นอยากจะก้าวเข้าสู่อาชีพนี้อย่างจริงจัง ทำให้มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเปิดหลักสูตรปริญญาตรี สำหรับนักศึกษาที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับการบินโดยเฉพาะ เพื่อสร้างบุคลากรมืออาชีพเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวของประเทศไทย
นาย กฤติน วิลกอบ สาขาการจัดการธุรกิจสายการบินชั้นปีที่ 2 คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า “ผมจบการศึกษาจาก HARRISON HIGH SCHOOL เมือง Georgia ประเทศสหรัฐอเมริกา การเรียนที่นั้นมีความแตกต่างกับประเทศไทยแน่นอน ตรงที่ว่าประเทสไทยสามารถเลือกสายการเรียนได้ แต่ที่อเมริกาทุกคนต้องเรียนในทุกสายวิชาไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิต วิทย์ ภาษา และรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับประเทศ ภาษาที่สองจะเป็นภาษาสเปนและฝรั่งเศส โดยที่นักเรียนจะต้องเลือกเรียนด้วยเช่นกัน ในส่วนของเครื่องแบบการแต่งกายนั้นจะไม่มีเครื่องแบบบังคับ ซึ่งทุกคนสามารถที่จะสวมใส่เสื้อผ้าแบบไหนมาเรียนก็ได้ ทำสีผมยังไงก็ได้ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ได้หมดทุกอย่าง ทั้งในเวลาเรียนและสอบ หลังจากเรียนจบจากที่อเมริกาผมอยากกลับเรียนต่อที่ประเทศไทย อยากจะอยู่กับพ่อและญาติที่ไทยผมหาข้อมูลคณะสาขาใหม่ที่อยากเรียนมาเจอคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ สาขาการจัดการธุรกิจสายการบิน ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผมถามผู้รู้และมีประสบการณ์ในประเทศไทยหลายท่าน สิ่งที่ทำให้เลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนั้นมีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมบริการอยู่แล้ว ที่สำคัญสาขาที่ผมอยากเรียนบริเวณตึก 7 มีแบบจำลองเครื่องบินและมีสถานที่ที่สามารถเรียนรู้และปฏิบัติจริง ๆ ให้ตรงสายกับวิชาที่เรียน รวมถึงหลักสูตรของที่นี้มีความทันสมัยตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 พอได้เข้ามาเรียน ได้สัมผัสทุกอย่างจริง ๆ เป็นอะไรที่สนุกและมีความสุขมาก ถือได้ว่าเป้นรั้วมหาวิทยาลัยที่สนุกมากและผมก็ไม่เคยมีชีวิตการเรียนในประเทศไทย ซึ่งทำให้ประทับใจอย่างมากรวมถึงรู้สึกอบอุ่น คนส่วนใหญ่เป็นกันเองไม่ว่าจะเป็นเพื่อน อาจารย์ ในคณะสาขาและต่างคณะ”
“ความแตกต่างด้านการศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา เช่น เรื่องเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา เรามองว่าที่ไทยมีการให้แต่งเครื่องแบบเป็นสิ่งที่ดี เพราะไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น ฐานะ เนื่องจากนักศึกษาที่เข้ามาเรียนนั้นไม่ว่าจะรวยแค่ไหน หรือ อยู่ในฐานะใดทุกคนต้องสวมใส่ชุดเครื่องแบบเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นที่ต่างประเทศทุกคนใส่ชุดอะไรมาก็ได้ ทำให้คนที่อาจจะไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อเสื้อผ้าดีราคาแพงก็จะรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น ส่วนคนที่มีจะใช้ของแบรนด์เนม จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนซึ่งทำให้แตกต่างจากประเทศไทยมาก ในส่วนการเรียนในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีการเรียนการสอนเน้นในเรื่องการปฏิบัติมากพอสมควร ทำให้ตอกย้ำการทำงานอย่างมืออาชีพ รวมถึงได้เรียนรู้ว่าเวลาทำงานบนเครื่องบินต้องปฎิบัติอย่างไร เมื่อได้ออกไปฝึกงานหรือทำงานจริงก็จะสามารถนำความรู้ที่เรียนและฝึกปฎิบัติมาใช้และเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานเพิ่มเติม เมื่อจบไปแล้วจะได้เข้าสู่การทำงานในสายงานนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่มีข้อบกพร่อง”