‘โชว์ แอนด์ แชร์’คืนข้อมูลชุมชน มทร.ธัญบุรีฝึกน.ศ.เรียนรู้ประสบการณ์จริง

เป็นอีกกิจกรรมที่ครึกครื้นและคึกคัก สำหรับกิจกรรม ‘โชว์ แอนด์ แชร์’ และคืนข้อมูลชุมชน ของรายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) การเรียนวิชานวัตกรรมในการลงเรียนในห้องเรียน 20% และอีก 80% ลงชุมชน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ ชุมชน คือ ห้องเรียนขนาดใหญ่ที่จะให้นักศึกษานำโจทย์มาแก้ปัญหาและคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ

โดยในปีการศึกษานี้ ได้ลงพื้นที่ หมู่ 1 และ หมู่ 9 วิสาหกิจชุมชนสวนเราเกษตร ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จ.ปทุมธานี ชุมชนหมู่บ้านทรัพย์ภิมุข ชุมชนหมู่บ้านพรพิมาน ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานี และศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาลงเรียนรายวิชากว่า 200 คน จึงได้ผลงานทั้งหมด 40 ผลงาน จัดแสดง

โดยผลงานส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ไส้อั่วสมุนไพรหัวปลี แป้งกล้วยหอม สครับตะไคร้แฟนซี แยมมะม่วงหาวมะนาวโห่ กรูดแก้ว เป็นต้น

ตัวแทนเจ้าของผลงาน แยมมะม่วงหาวมะนาวโห่ “แพรว” นางสาวอภิญญา แก้วเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า จากการลงพื้นที่ ในชุมชนหมู่ที่ 9 ตำบลบึงกาสาม มีมะม่วงหาวมะนาวโห่ในชุมชน ซึ่งชาวบ้านไม่นิยมนำมากิน ส่วนใหญ่มีคนต่างหมู่บ้านมาขอ เพื่อให้เกิดรายได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วงหาวมะนาวโห่ ในกลุ่มจึงได้ระดมความคิด ลงความเห็นนำมาทำแยมมะม่วงหาวมะนาวโห่ ไร้สารกันบูด ออกจำหน่ายในชุมชน ซึ่งขั้นตอนในการทำไม่ยุ่งยาก เพียงนำมะม่วงหาวมะนาวโห่มาล้างน้ำ แช่น้ำเกลือไว้ 30 นาที แล้วนำมาล้างน้ำเปล่า จากนั่นนำไปใส่เครื่องปั่นให้ละเอียด นำที่ปั่นใส่กระทะใส่น้ำตาล คนให้เข้ากันจะได้แยมมะม่วงหาวมะหาวโห่ สามารถเก็บไว้รับประทาน หรือวางขายในชุมชนได้

“ฟาง” นางสาวธนิสร ทองแบบ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ภายในกลุ่มคิดจะทำน้ำพริกกากหมูหัวปลี แต่เมื่อนำไปปรึกษาอาจารย์ ผศ.ดร.เลอลักษณ์ เสถียรรัตน์ ได้แนะนำว่าท่านมีสูตรในการทำไส้อั่ว จึงนำสูตรดังกล่าวมาปรับสูตรดัดแปลงกลายเป็นไส้อั่วสมุนไพรหัวปลี โดยมองว่าชาวบ้านสามารถนำไปสร้างรายได้ ตั้งร้านขายข้างถนนเป็นของฝาก ทำได้ง่าย ความยากมีเพียงต้อง การ ต้องระวังขั้นตอนในการยัดไส้ อย่าให้ไส้ขาดหรือแตกระหว่างที่ยัด ในการเรียนวิชานี้ไม่เหมือนการเรียนวิชาอื่น เพราะว่าต้องลงชุมชน ทำให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น ได้รู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร สูตรไส้อั่วหัวปลีสามารถเปลี่ยนจากหมูเป็นหน่อไม้ซอยละเอียด สำหรับมุสลิมหรือใครที่ไม่ชอบกินหมู อาจดัดแปลงใช้เนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็ได้

ทางด้าน “ปอ” นางสาวพิมลดา นกเล็ก นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า สำหรับ “กรูดแก้ว” คือ มะกรูดเชื่อมที่แฝงด้วยสรรพคุณมากมาย นำมะกรูดในชุมชนหมู่ที่ 10 มาแปรรูป ทำให้ทุกคนสามารถกินได้ง่ายขึ้นโดยมะกรูดมีไฟเบอร์ช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ลดการอักเสบภายในลำคอ ชาวบ้านสามารถทำขายได้ในชุมชนเป็นของฝากของขวัญ โดย 1 ซอง 200 กรัม ราคา 70 บาท

“เดียร์” นางสาวจิราพร ชาติชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า ตะไคร้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว โดยใบของตะไคร้ถูกตัดทิ้ง กลายเป็นขยะ จึงนำใบตะไคร้มาบดเป็นผง และผสมกับว่านหางจระเข้ เป็นสครับตะไคร้แฟนซี สามารถสครับได้ทั้งผิวหน้าและผิวกาย ผลัดเซลล์ผิวเก่าที่ตายแล้วให้หลุดออก ทำให้ผิวกระจ่างใส แก้ไขปัญหาผิวแตกลาย และฟื้นฟูสภาพผิวให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้สครับมีกลิ่นของตะไคร้มากเกินไป และดึงดูดกลุ่มของวัยรุ่นได้เติมกลิ่นลงไป เช่น กลิ่นบลูเบอร์รี่ กลิ่นสตอเบอรี่ ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดไม่มีสารอันตราย

สำหรับผลงานที่จัดแสดงทั้งหมด กลุ่มนักศึกษานำไปถ่ายทอดในชุมชน ชาวบ้านนำไปต่อยอดสร้างเป็นอาชีพต่อไป

………………
ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *