จี้รัฐบาลต้องเอาจริงในการบังคับใช้ ข้อตกลงคุณธรรม แนะรัฐจัดงบสนับสนุนเพื่อความยั่งยืนในการต้านทุจริต

ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวในงานเสวนาเรื่อง “ข้อตกลงคุณธรรม : ต้านโกง โปร่งใส ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ” จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) ว่า การจะเปลี่ยนการให้สินบนได้ในช่วงข้ามคืนเป็นไปไม่ได้ แต่เป็นสัญญาณว่า ผู้ให้คำมั่นปรารถนาที่จะขับเคลื่อนสังคมที่ปราศจากการทุจริตโดยส่งข่าวสารว่าเราจะมุ่งไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม Better Society สะอาด โปร่งใส 2 คำนี้ที่เรียกว่าเป็นจิตวิญญาณของข้อตกลงคุณธรรม ถ้าทุกฝ่ายมีเจตจำนงที่ผมเรียกว่า Political Will โดยเฉพาะรัฐบาล รัฐบาลต้องแน่วแน่ว่า ออกกฎหมายมาแล้วต้องสนับสนุนทำให้การปฏิบัติงานได้ผล ไม่ใช่ว่าล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็หมดแรงไปเอง

“เมื่อกำหนดมาว่าจะมีข้อตกลงในด้านคุณธรรมแล้ว บางองค์กรภาครัฐถอนตัวออกดื้อๆ ช่วยฟ้องประชาชนทีว่ามีองค์กรไหนบ้าง สะท้อนว่าไม่ใช่เฉพาะการล้มเลิกอย่างเดียวแต่แสดงให้เห็นถึงความถดถอยทางด้านของคำมั่นสัญญาที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมที่ปราศจากการทุจริตอีกด้วย” ศ.พิเศษ วิชา กล่าว

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  สำหรับประเทศไทยการนำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆนั้น มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ทำให้ภาครัฐได้ประโยชน์จริง โดยผลศึกษาของทีมวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ส่งผลให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณถ้าโครงการไหนมีการแข่งขันมาก ราคาก็ลดจากราคากลางได้มาก เช่น ถ้าแข่งขันโดยใช้วิธีอี-บิดดิ้ง ไม่ใช้วิธีจัดจ้างวิธีพิเศษ จะสามารถลดราคาจากราคากลางลงได้ 12% แต่ถ้านำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ร่วมด้วยจะลดราคาลงได้อีก 14% หรือรวม 26% ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐประหยัดงบประมาณได้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี (2558-62) หรือประหยัดได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท

“ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์เรื่องการต้านโกง ทั้งในด้านหลักคิด และหลักฐานเชิงประจักษ์ อีกทั้งในแง่ผลตอบแทนด้านการเงินในการดำเนินการก็มีความคุ้มค่าสูงมาก จึงมีความเห็นว่าควรทำให้ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และเสนอให้จัดสรรงบประมาณจากภาครัฐมาสนับสนุนโครงการข้อตกลงคุณธรรมประมาณร้อยละ 0.5 จากวงเงินที่ประหยัดไปได้ปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ”  ดร.สมเกียรติ กล่าว

 

พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติ นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า ปัญหาที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างมีหลายเรื่อง จึงต้องนิยามให้ชัดเจนว่า การทุจริต คือ การรับสินบนอย่างเดียว หรือเป็นการทุจริตเชิงนโยบายด้วย เพราะที่ผ่านมาจะพบว่าเป็นเรื่องการผิดระเบียบ ซึ่งทำให้คนไม่กล้าทำงาน จึงต้องหาวิธีตรวจสอบและแยกระหว่างคนทุจริตกับคนทำผิดระเบียบออกจากกัน จะเห็นว่าพอมีกติกาใหม่ออกมา ก็จะมีคนหาวิธีที่จะไม่ปฏิบัติตามกติกาใหม่ เลี่ยงกติกาใหม่ ซึ่งตอนนี้มีการพัฒนาถึงขั้นที่ว่าโกงได้ โดยไม่ผิดระเบียบ อยากย้ำว่าถ้ามีการทุจริต ไม่ได้เสียแค่วงเงินที่มีการทุจริตหรือมีการรับหรือจ่ายสินบน ความเสียหายมากกว่านั้น

“นอกจากได้สิ่งของที่ไม่คุ้มค่าแล้วเราต้องทนใช้และยังเสียโอกาสที่จะได้ใช้ของดีๆ ด้วย ดังนั้นอยากให้เพิ่มบทบาทผู้สังเกตการณ์ในโครงการข้อตกลงคุณธรรมเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวกับการดำเนินโครงการทั้งโครงการไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้ย” พล.อ.ต. ม.ล.ประกิตติกล่าว

น.ส.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และอดีตผอ.การยาสูบ กล่าวว่า โรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจักรของโรงงาน ซึ่งทำให้ประหยัดงบได้ 31% และปัจจุบันโรงงานยาสูบได้นำข้อตกลงคุณธรรมไปใช้กับอีกหลายโครงการ  ผลของการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรมทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ในองค์กร ทำให้เปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กร โดยเน้นการสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับ Young Blood ด้วยและเห็นผลตอบรับที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

“การมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมดูการทำงานในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร ช่วยทำให้ทำงานได้สบายใจขึ้น ที่สำคัญคือผลของการเข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในองค์กร สร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กรภาครัฐ ให้พร้อมรับการตรวจสอบอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะสัญญาณที่ดีจากพนักงานที่เป็นเลือดใหม่ที่จะสืบทอดวัฒนธรรมใหม่นี้สืบต่อไปด้วย” น.ส.ดาวน้อย กล่าวย้ำ

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้าน คอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่วาย้ำว่า ข้อตกลงคุณธรรม เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดอันหนึ่ง และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนนั้นมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ และเห็นด้วยกัยแนวคิดของดร.สมเกียรติฯ ในการจัดสรรงบประมาณ 0.5% จากงบประมาณที่ประหยัดได้ปีละ 10,000 ล้านบาทมาเป็นงบประมาณในการสนับสนุนภาคประชาชนเพื่อความยั่งยืนของโครงการข้อตกลงคุณธรรม.

“ข้อตกลงคุณธรรม นอกจากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตภาครัฐแล้ว ยังนับเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และที่สำคัญที่สุดคือ บทเรียนจากการขับเคลื่อนโครงการข้อตกลงคุณธรรมนี้สามารถนำไปใช้ปฏิรูประบบราชการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของภาครัฐได้เป็นอย่างดี”นายวิชัยกล่าว

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อสังเกตของผู้สังเกตการณ์อิสระที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม 1 โครงการ คือ การจัดซื้อดาวเทียมของ GISTDA จากโครงการที่เข้าร่วมทั้งหมด 118 โครงการ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ แต่ต่อไปนี้องค์กรฯจะพยายามผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อสังเกตการณ์ให้มากขึ้น

สำหรับโครงการข้อตกลงคุณธรรมนั้น  (Integrity Pact ) เป็นเครื่องมือที่ องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International – TI) สร้างขึ้นเพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อตกลงคุณธรรมในประเทศไทย เกิดจากการร่วมมือขององค์กรภาคเอกชน ผลักดันการออกพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 และระบุให้เป็นเครื่องมือที่จะให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 และจนถึงปัจจุบันมีโครงการมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมทั้งสิ้น 118 โครงการ ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 63 โครงการ คิดเป็นงบประมาณรวม 1.84 ล้านล้านบาท และทำให้ภาครัฐประหยัดงบประมาณได้ 82,796 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.06% ของงบประมาณดังกล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *