นิสิตนิติศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลการแข่งขันกฎหมายระดับนานาชาติ

 

นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3 จากเวทีการแข่งขันกฎหมายระดับนานาชาติ The19th Intercollegiate Negotiation Competition โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกต่างส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน รวมผู้แข่งขันกว่า 300 คน

การแข่งขันครั้งนี้จัดโดย Intercollegiate Negotiation Competition ประเทศญี่ปุ่น โดยจัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 19 ซึ่งในปีนี้เป็นการแข่งขันในรูปแบบออนไลน์ แต่ละทีมจะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนของบริษัท โดยจะต้องแข่งขันทั้งการเขียนเอกสารต่างๆ ได้แก่ คำให้การ (Memorandum) และคำให้การแย้ง (Response memorandum) และคำอธิบาย (Explanatory memorandum) รวมทั้งส่วนภาคปฏิบัติที่ทุกทีมที่นำเสนอข้อต่อสู้ (Pleading) ในรอบอนุญาโตตุลาการ 1 วัน และการเจรจาในฐานะผู้แทนบริษัทในรอบการเจรจาต่อรอง (Negotiation) อีก 1 วัน

ภัทราภรณ์ ภัทรพิบูล กริชวิชญ์ ตาตินิจ วสุวัฒน์ ดีพร้อมอริยกุล และ แพรวา จิตติมณี นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่คว้ารางวัลจากเวทีการแข่งขันกฎหมายระดับโลกในครั้งนี้ เปิดเผยว่า การแข่งขันครั้งนี้มีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นการแข่งขันทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาระหว่างประเทศ (International commercial contract) ที่มีทั้งเรื่องการเจรจาต่อรอง (Negotiation) และอนุญาโตตุลาการ (International arbitration) รวมอยู่ด้วยกัน เป็นการผสมผสานวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกเสมือนแนวปฏิบัติจริงของภาคธุรกิจ

กรรมการผู้ตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติงานทางด้านกฎหมาย รวมทั้งผู้เข้าร่วมการแข่งขันล้วนมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียและทั่วโลก ซึ่งปีนี้เป็นครั้งแรกที่จุฬาฯ เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้

“รู้สึกดีใจมากที่นิสิตประสบความสำเร็จจากการแข่งขันครั้งนี้ และในฐานะที่เป็นทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้เป็นครั้งแรก การได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 3  รองจาก NUS (National University of Singapore),  Team Australia (University of Sydney Law School, ANU College of Law, Melbourne Law School and QUT Law) และ University of Tokyo โดยมีคะแนนห่างจากมหาวิทยาลัยโตเกียว อยู่เพียง 0.05 คะแนน ถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายมาก

“นิสิตทุกคนในทีมทุ่มเททำงานหนักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้เป็นโอกาสได้พัฒนาตนเอง พร้อมทั้งนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้จริงเพื่อเตรียมตัวเป็นนักกฎหมายในอนาคต” อ.ดร.ธิดารัตน์ ศิลปภิรมย์สุข รองคณบดีด้านกิจการต่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ที่ปรึกษากล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *