ชมรมราชมงคลจิตอาสา ฝึกวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต ส่งมอบ‘อาคารอเนกประสงค์หลังแรก’

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) มอบอาคารอเนกประสงค์ ให้กับนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผลงานของนักศึกษา โครงการราชมงคลจิตอาสา ประจำปี 2563 “เราบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม” ณ โรงเรียนบ้านหันทราย จ.สระแก้ว

“ชมรมราชมงคลจิตอาสา ก่อตั้งมาประมาณ 1 ปี สืบเนื่องมาจากรัชกาลที่ 10 พระองค์ได้พระราชทานแนวทางให้คนไทยบำเพ็ญประโยชน์ในเรื่องจิตอาสาและจิตสาธารณะ โดยเป้าหมายของกิจกรรมที่ทำ คือความสำเร็จที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ การทำกิจกรรมต่อยอดให้เยาวชนได้มีโอกาสซึมซับ ในเรื่องจิตอาสาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ได้เห็นความเสียสละ ความลำบากของตัวเอง ทำให้ชุมชนโดยร่วมมีศักยภาพที่ดีขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณัฐ แก้วสกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมราชมงคลจิตอาสาเล่าว่าถึงความเป็นมาของชมรม โครงการราชมงคลจิตอาสา ประจำปี 2563 ณ โรงเรียนบ้านหนองหัวช้าง และ โรงเรียนบ้านหันทราย จ.สระแก้ว “เราบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนร่วม” ระหว่างวันที่ 16 พ.ย. – 5 ธ.ค.63

ผศ.ณัฐ บอกว่า การติดตั้งเครื่องเล่นและปูพื้นคอนกรีต โรงเรียนบ้านหนองหัวช้าง และการสร้างอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านหันทราย เป็นกิจกรรมใหญ่ของชมรมสำหรับปีการศึกษานี้ โดย ใช้เวลาในช่วงปิดเทอม ส่วนกิจกรรมในรอบเดือนหรือทุกวันสำคัญ นักศึกษาในชมรมได้ลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์ในมหาวิทยาลัยและนอกมหาวิทยาลัย เช่น การเก็บขยะ การลอกคลองผักตบชวา สำหรับทั้งสองกิจกรรม มีการลงพื้นที่ ศึกษาข้อมูลจากหลายฝ่าย ซึ่งทั้งสองโรงเรียนเป็นโรงเรียนในเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ที่ทางมหาวิทยาลัยได้มาอบรมในเรื่อง Active Learning จากการสำรวจความต้องการ สนามเด็กเล่นโรงเรียนหนองหัวช้าง มีพื้นที่จำกัดและจำนวนของนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ทางชมรมจึงได้ออกแบบเครื่องเล่นที่มหาวิทยาลัย และนำมาติดตั้ง พร้อมปูพื้นคอนกรีต โดยใช้เวลาในการดำเนินกิจกรรม 3 วัน สำหรับโรงเรียนบ้านหันทราย มีแผนการเรียนการสอนที่ชัดเจน ในการอนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปลูกฝังลงในตัวของเยาวชน การศึกษาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ต้องใช้พื้นที่ในการเรียนรู้ ทางโรงเรียนจึงต้องการอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งตอบโจทย์การลงกิจกรรมของชุมชน “ชุมชนในโรงเรียน โรงเรียนมีชุมชน” ใช้เวลาในการสร้างทั้งหมด 20 วัน โดยมีนักศึกษากว่า 130 ชีวิต

ทางด้าน นายศิริวัฒน์ วรนาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหันทราย เล่าว่า ประทับใจในการทำงานของนักศึกษา ทุกคนทุ่มเทและเสียสละ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน คุณครูและคนในชุมชน ถึงแม้ว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านเกิดของพวกเขา ได้เห็นถึงความเสียสละที่ไม่มีแม้กระทั่งเสียงบ่น ตื่นตั้งแต่หกโมงเช้าทำงานถึงห้าโมงเย็น ถ้างานไม่เสร็จต้องทำจนถึงตีหนึ่งตีสอง เพื่อให้งานบรรลุไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละวัน อาคารอเนกประสงค์หลังนี้ จะใช้ประโยชน์ของโรงเรียนและชุมชน ชุมชนในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หลังฤดูเก็บเกี่ยวพวกแม่บ้านได้ตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านหันทราย ให้พวกป้า ๆ ที่มีความรู้ในเรื่องของการทอผ้า มาถ่ายทอดประสบการณ์ในการทอผ้าให้กับนักเรียน ในช่วงคาบชุมนุม เช่น ชุมนุนอนุรักษ์บ้านหันทราย ใช้อาคารอเนกประสงค์หลังนี้ในการเรียนรู้ หรือแม้กระทั่งการอบรมถ่ายทอดความรู้โครงการต่าง ๆ ของวิทยาลัยชุมชนและของจังหวัดสระแก้วที่จัดให้กับชุมชน

“แก้ว” นายภานุพงศ์ รัตนอุไร ประธานชมรมราชมงคลจิตอาสา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ค่ายนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 5-10 พ.ย. 2563 ณ โรงเรียนบ้านหัวหนองช้าง อ.วัฒนานคร จัดทำอุปกรณ์เครื่องเล่นนักเรียน ติดตั้งอุปกรณ์สนามเด็กเล่น จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ สไลเดอร์ ชิงช้า บันไดโหน บันไดลิง บันไดตาข่าย และม้ากระดก ปรับพื้นที่ เทพื้นซีเมนต์ ขนาดกว้าง 5.35 เมตร x 40.10 เมตร = 214.5 ตารางเมตร และ ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 พ.ย. -6 ธ.ค. 2563 ณ โรงเรียนบ้านหันทราย อ.อรัญประเทศ จัดสร้างอาคารเอนกประสงค์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอาชีพตามโครงการบ้าน วัด โรงเรียน และใช้ฝึกอบรมอาชีพให้กับชุมชน ขนาดกว้าง 12 เมตร x 36 เมตร= 384 ตารางเมตร ในการทำงานแบ่งออกเป็นส่วน เพื่อให้งานเป็นไปตามระบบ การมาครั้งนี้ทำให้ตัวผมมีความเป็นผู้นำ นำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการเรียนและการทำงานในอนาคตต่อไป

“กานต์” นายนวพรรณ กองแก้ว ประธานค่ายราชมงคลจิตอาสา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ผมได้รับทุนพระราชทานรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่ชั้น ปวช.1 จนเรียนสำเร็จชั้นปริญญาตรี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ตั้งใจทำความดีและทำจิตอาสาตลอดไป ก่อนมาสร้างอาคารได้มีการลงพื้นที่ความต้องการ โดยทางโรงเรียนต้องการอาคารอเนกประสงค์ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 2 คณะ ได้แก่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุ และสาขาวิศวกรรมโทรคมนาคม โดยแบ่งงานออกเป็นฝ่าย ฝ่ายโครงสร้างประกอบด้วย งานเชื่อม งานสี งานโยธา และสโตร์ ฝ่ายสวัสดิการและบริการ ประกอบด้วย ครัว พยาบาล และเครื่องดื่ม ดีใจที่ได้มาค่าย เพื่อน ๆ ช่วยกันทำงาน ได้รับความรู้การทำอาคาร จากพื้นที่โล่ง ๆ เกิดเป็นตัวอาคาร ระหว่างทำงานไม่มีปัญหาในการทำงาน เป็นในเรื่องของสภาพอากาศ โดยอากาศร้อนมาก

“นิว” นางสาวลัลน์ลนิน โชติ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เล่าว่า ครั้งแรกในการออกสร้างอาคารเรียน ส่วนใหญ่ทำกิจกรรมจิตอาสาเก็บผักตบชวา ทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ ออกค่ายอากาศร้อนและเหนื่อย แต่เมื่อมองไปทำเพื่อคนอื่น มองถึงผลลัพธ์ที่ได้ คนที่ได้รับสิ่งที่เราทำไปเขามีความสุข แค่นี้ความเหนื่อยก็หายไป งานหลัก ๆ คือการทำงานในครัวทำอาหาร เมนูแต่ละวันต้องมีรสชาติจืด 1 อย่าง เผ็ด 1 อย่าง มีเนื้อสัตว์และผักปนกัน เพื่อให้เพื่อน ๆ น้อง ๆ ได้รับสารอาหารที่ครบ 5 หมู่ เสร็จจากงานครัวออกมาช่วยงานเพื่อน ช่วยทาสี ทาสีเหล็ก การทำค่ายครั้งนี้ทำให้มีสังคมรู้จักปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระใคร

ผศ.ณัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า กิจกรรมของชมรมไม่ได้มีการสร้างเพียงอาคารอย่างเดียว พยายามใช้ 1 กิจกรรม ตอบโจทย์ให้ครบทุกเรื่อง “ไม่ใช่เพียงมาทำกิจกรรม บำเพ็ญประโยชน์แล้วสนุก ต้องเรียนรู้ว่านี้คือกิจกรรม วิชาชีพที่ติดตัวไปในโลกอนาคต” ถ้ามีศักยภาพเหล่านี้ติดตัว การออกไปเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องที่ยาก ชมรมราชมงคลจิตอาสา มองในเรื่องสาธารณะประโยชน์ สิ่งไหนเป็นประโยชน์โดยรวมหรือตัวบุคคล ไม่มีผลกระทบ ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารเรียน อาจสร้างบ้านให้กับนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากอัคคีภัย อุทกภัย ถ้าสิ่งที่ทำด้วยจิตสาธารณะชมรมราชมงคลจิตอาสาสามารถทำได้หมด

…………..
ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *