กพฐ. แนะปรับตัวชี้วัดการเรียนใหม่ให้เหมาะกับสถานการณ์ COVID-19

ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ได้กล่าวภายหลังการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นจนทำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศแจ้งปิดสถานศึกษาในสังกัด 28 จังหวัดพื้นที่สีแดง ซึ่งที่ประชุมมีความกังวลเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนของผู้เรียนหากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังไม่คลี่คลายจนไม่สามารถเปิดเรียนตามปกติได้ในวันที่ 31 มกราคม จะมีวิธีการใดบ้างที่จะทำให้คุณภาพของผู้เรียนดีขึ้นแม้เด็กยังต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์

โดยที่ประชุมขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจถึงบทบาทและสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ รวมถึงการให้การบ้านนักเรียน ที่ครูจะต้องบูรณาการการบ้านให้เหลือชิ้นเดียวแต่ครอบคลุมทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังต้องการให้ครูที่จัดการเรียนการสอนออนไลน์ได้ดี ได้ส่งข้อมูลการสอนของครูเหล่านั้นมาใส่ข้อมูลไว้ที่ศูนย์ข้อมูลส่วนกลางของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อที่ครูคนอื่นๆ จะได้นำไปเป็นตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนได้

นายเอกชัย กล่าวอีกว่า .”ทั้งนี้ที่ประชุมต้องการให้มีการปรับตัวชี้วัดการเรียนการสอนในภาคเรียนนี้ให้เหมาะสมกับวิกฤติโควิด-19 ด้วย เพราะการเรียนการสอนและการประเมินผล จะต้องปรับเปลี่ยนใหม่หมด ทั้งนี้ที่ประชุมยังหารือถึงแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะเป้าหมายการศึกษาที่เราต้องการจะเห็นชัดเจน คือ ต้องการเด็กไทยออกมาในลักษณะแบบไหนเมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน”

โดยที่ประชุมเสนอ สพฐ.ให้วางแผนสร้างเด็กไทยให้คิดวิเคราะห์เป็น และมีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย และมีทักษะชีวิตที่เข้มแข็งพร้อมกับรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่ง สพฐ.รับที่จะไปดำเนินการพร้อมกับจัดทำแผนการศึกษาขั้นพื้นฐานในปี 2564-2565 รวมถึงที่ประชุมยังได้รับทราบที่ประชุม รับทราบการแก้ไขแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 ตามที่ สพฐ.เสนอ โดยจะให้นักเรียนระดับชั้น ป.6 และ ม.3 สามารถสมัครเข้ารับการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ถือเป็นสิทธิส่วนตัวและจะไม่นำผลคะแนน O-NET มาใช้ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4

ส่วนนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนของ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นั้น ที่ประชุมมองว่าเป็นเรื่องดีแต่คงไม่สามารถนำโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชนที่เป็นโมเดลจังหวัดภูเก็ตมาใช้กับทุกจังหวัด ซึ่งจะต้องบริหารจัดการให้เหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่มากกว่า

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

– https://www.thaipost.net/main/detail/89936#

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *