สมศ. ใช้ประเมินออนไลน์เต็มรูปแบบ ภายใต้สถานการณ์โควิด – 19 พร้อมเน้นย้ำถึงสถานศึกษาทั่วไทย “ใช้การประเมินแนวใหม่ทั้งระบบ – ไม่มีขอเอกสารเพิ่ม”

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เผยจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา สมศ. ได้ดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19 ) โดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตามบริบทการจัดการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาของสถานศึกษา และเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ สมศ. จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมิน โดยได้นำรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 มาใช้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สมศ. ได้ทำการประเมินผล จากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 3,831 แห่ง แบ่งเป็นการศึกษาปฐมวัย 1,482 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2,070 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 199 แห่ง และวัตถุประสงค์พิเศษอีก 80 แห่ง พร้อมปรับแผนการประเมินระยะที่สอง ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในรูปแบบออนไลน์ เฉพาะสถานศึกษาที่ยื่นคำร้องให้ สมศ. เข้าไปตรวจเยี่ยม ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) ควบคู่ไปกับการสร้างความรู้เรื่องการประเมินภายนอกให้กับสถานศึกษาผ่านโครงการส่งเสริมสถานศึกษาและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต้นสังกัดแบบออนไลน์ ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชมวีดิทัศน์ และดาวน์โหลดไฟล์เอกสารแนะนำ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า สมศ. ประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ 2564 ในรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยแบ่งการประเมินคุณภาพภายนอกออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ การประเมินระยะแรก คือ การประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR (พิจารณาหลักฐานของ IQA ตามที่ปรากฏใน SAR เท่านั้น) โดยผลการประเมิน SAR จะมีระดับคุณภาพ 3 ระดับคือ ดี พอใช้ และปรับปรุง ขณะนี้ สมศ. กำลังอยู่ในช่วงของการประเมินระยะแรก ซึ่งเป็นการประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษาจำนวน 3,831 แห่ง แบ่งเป็นการศึกษาปฐมวัย 1,482 แห่ง ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2,070 แห่ง ด้านการอาชีวศึกษา 199 แห่ง และวัตถุประสงค์พิเศษอีก 80 แห่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมิน SAR ก่อนที่จะจัดทำรายงานการประเมิน SAR เพื่อส่งไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดที่กำกับดูแลสถานศึกษาต่อไป ทั้งนี้รูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พบว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษา เพราะสอดรับกับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงเมื่อสถานศึกษาพึงพอใจกับผลการประเมินในระยะแรก (ประเมิน SARแล้ว ซึ่งถือเป็นการประเมินคุณภาพภายนอกอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุก 5 ปี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 จากนั้นสถานศึกษาจะขอรับการประเมินคุณภาพภายนอกระยะที่สองหรือไม่ก็ได้ โดย สมศ. ได้เน้นย้ำกับผู้ประเมินว่าจะไม่มีการร้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากทางสถานศึกษาในการประเมินจากการวิเคราะห์ SAR ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดภาระแก่สถานศึกษาให้ได้มากที่สุด

ดร.นันทา กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสาระสำคัญหนึ่งของการประเมินคุณภาพภายนอกในปีนี้คือ การประเมินระยะสอง ซึ่งเป็นการประเมินจากการตรวจเยี่ยม (Site visit) หรือการลงพื้นที่ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมตามความสมัครใจของสถานศึกษา เฉพาะสถานศึกษาที่ร้องขอให้ สมศ. เข้าตรวจเยี่ยม โดยมีผลประเมินคุณภาพ 5 ระดับ คือ ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง ซึ่งหลังจากสถานศึกษาได้รับผลการประเมิน SAR อย่างเป็นทางการแล้ว และต้องการให้ สมศ. ลงพื้นตรวจเยี่ยมสามารถยื่นคำร้องมาที่ สมศ.ได้ ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจะอยู่ในช่วงเปิดภาคเรียน และใช้เวลาในการตรวจเยี่ยมเพียง 1 วันเท่านั้น เพื่อไม่ให้รบกวนการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

“แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ทำให้ สมศ. ต้องปรับเปลี่ยนการประเมินระยะที่สองให้เป็นการตรวจเยี่ยมแบบออนไลน์ ซึ่ง สมศ.ได้มีการกำหนดรูปแบบ และวิธีการให้ผู้ประเมินภายนอกวีดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) ไปยังสถานศึกษาที่ยื่นคำขอให้ สมศ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม โดยผู้ประเมินจะตรวจสอบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สถานศึกษาระบุไว้ใน SAR รวมทั้งเอกสาร หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สอดคล้องตามเกณฑ์ในการประเมินจากการตรวจเยี่ยม ตามหลักเกณฑ์ที่ สมศ. กำหนดไว้ โดยเป็นไปตามที่ผู้ประเมิน และสถานศึกษาได้มีการตกลงร่วมกันตามที่แจ้งในตารางนัดหมาย”

พร้อมกันนี้ สมศ. ได้เร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ให้กับสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และด้านการอาชีวศึกษา โดยให้สถานศึกษาสามารถแสกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับชมวีดิทัศน์ และดาวน์โหลดไฟล์เอกสารแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมิน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประเมินคุณภาพภายนอกอย่างเข้มข้น ด้วยการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ อาทิ การใช้งานระบบ  Automated QA (AQA) การใช้ระบบ ONESQA-V ในรูปแบบของ Mobile Application และระบบปฏิบัติการอื่นๆ พร้อมทั้งได้มีการเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ และระบบต่างๆ เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 เป็นการประเมินคุณภาพภายนอกแบบออนไลน์ที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ดร.นันทา กล่าวสรุป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *