การจัดสอบธรรมศึกษา ยังจำเป็นหรือไม่ ?

“ธรรมศึกษา ยังจำเป็นต้องสอบหรือไม่ ?”

สวัสดีค่ะ วันนี้ทีมงาน Eduzones มีหัวข้อที่น่าสนใจมานำเสนอ และอยากให้ทุกคนมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เกี่ยวกับวิชาธรรมศึกษา ธรรมศึกษานั้นเป็นวิชาเรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา ในอดีตมีสำหรับภิกษุสามเณร แต่ในปัจจุบันนั้นก็ได้มีการเรียนการสอนสำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไปด้วย ซึ่งหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันดีเพราะอาจจะเคยผ่านการสอบมาแล้วด้วยซ้ำ และปัจจุบันนี้ก็ยังมีการสอบธรรมสนามหลวงของน้อง ๆ วัยมัธยม ซึ่งจะจัดสอบขึ้นทุกปี  ถ้านับจากก่อกำเนิดวิชานี้ขึ้นมา จนถึงปัจจุบันก็รวม ๆ ร้อยกว่าปีแล้ว แต่การสอบธรรมศึกษานั้นไม่ได้ส่งผลต่อเกรดหรือการเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งเหตุนี้เองจึงเกิดประเด็นให้ผู้คนได้ขบคิดกันว่าแล้วการสอบธรรมศึกษา สอบไปเพื่ออะไร และมีประโยชน์ต่อผู้สอบจริงหรือไม่ ?

 

ธรรมศึกษาคืออะไร ?

ธรรมศึกษา มาจากการศึกษาพระพุทธศาสนาของไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ในอดีตธรรมศึกษาจะเป็นวิชาเรียนสำหรับภิกษุสามเณร ซึ่งศึกษาเป็นภาษาบาลี ที่เรียกว่า การศึกษาพระปริยัติธรรม แต่ว่าเป็นสิ่งที่เรียนยากสำหรับสามเณรทั่วไป จึงส่งผลให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในด้านนี้น้อย และไม่มีใครช่วยพระในกิจการทางศาสนาทั้งด้านความรู้ การปกครอง หรือสั่งสอนประชาชน ก็เลยให้มีวิชาธรรมศึกษาขึ้นมา ในปี พ.ศ.2435 และได้มีเรียนการสอนเป็นภาษาไทย จนปี พ.ศ. 2454 มีการจัดสอบขึ้นครั้งแรก ต่อจากนั้นมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรตลอดมา  ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธฯ เลยเห็นว่า การศึกษาวิชาธรรมศึกษา ไม่ได้มีประโยชน์ต่อทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่อาจจะให้ประโยชน์กับคนทั่วไปด้วย โดยเฉพาะข้าราชการครู เลยเกิดหลักสูตรนักธรรมสำหรับฆราวาสขึ้น เรียกว่า ธรรมศึกษา โดยมี 3 ชั้น คือ ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ซึ่งมีเนื้อหาแบบเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมของภิกษุสามเณร ซึ่งได้เปิดสอบธรรมศึกษาตรีครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2472 และเปิดสอบครบทุกชั้นในเวลาต่อมา

 

หลักสูตรธรรมศึกษาที่ใช้ในปัจจุบัน มีอะไรบ้าง ?

วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม

เรียงความกระทู้ธรรม คือ  การเขียนเรียงความอธิบายเนื้อหาให้ตามที่ธรรมสุภาษิตที่กำหนดให้ โดยอ้างอิงเหตุผลจากหนังสือพุทธสุภาษิต ให้สอดคล้องกันและสมเหตุสมผล และการตอบนั้นควรตอบจำนวน 2 หน้าขึ้นไป โดยมีการเว้นบรรทัด

วิชาธรรมวิภาค

ธรรมวิภาค คือ การจัดหมวดหมู่ แยกแยะธรรมะไว้เป็นหมวด หรือหัวข้อเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา โดยวิชาธรรมวิภาคเป็นการตอบคำถามตามที่กำหนดให้ โดยอ้างอิงจากหนังสือนวโกวาทแผนกธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติ

วิชาอนุพุทธประวัติ

อนุพุทธประวัติ คือ เรื่องที่กล่าวถึงความเป็นไปในชีวประวัติ และปฏิปทาของหมู่ชนผู้ได้สดับฟังคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น แล้วรู้ตามจนสามารถดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิง โดยจำเป็นการตอบคำถามที่เกี่ยวกับชีวประวัติของพระสาวก อ้างอิงจากหนังสืออนุพุทธประวัติ พระนิพนธ์ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทวมหาเถร) และศาสนพิธี เล่ม 2 ขององค์การศึกษา

วิชาวินัย

วินัย คือ พุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ โดยการตอบข้อสอบวิชาวินัยจะอ้างอิงจากหนังสืออุโบสถศีลของพระศรีรัตนโมลี (ชัยวัฒน์ ปญฺญาสิริ)

โดยข้อสอบธรรมศึกษานั้น จะมีทั้งข้อกาและข้อเขียน ซึ่งก่อนการสอบจะต้องมีการเรียนเพิ่มเติม เช่น อ่านหนังสือ หรือการติวโดยคุณครูในโรงเรียนหรือจากพระสงฆ์โดยตรง

 

ในปัจจุบันยังมีจัดสอบธรรมศึกษาขึ้นทุกปี หรือที่เรียกว่าสอบไล่นักธรรม และถึงแม้จะมีการสอบมาทุกปีก็ตาม แต่ก็ยังมีกระแสที่ต้องทำให้พูดถึงความสำคัญของการสอบธรรมศึกษาของเด็กนักเรียนอยู่เสมอ  จนไปถึงประเด็นที่มีการสนับสนุนชำแหละการบังคับสอบธรรมศึกษาของสื่อสังคมออนไลน์หลายแหล่ง ซึ่งมีเนื้อความและเหตุผลที่เห็นสมควรว่าควรชำแหละการบังคับสอบธรรมศึกษานั้นจะมีลักษณะเดียวกัน เช่น นักเรียนบางคนไม่ได้นับถือศาสนาพุทธแต่ต้องโดนทางโรงเรียนบังคับสอบ การโกงระหว่างการสอบ การได้ประโยชน์ในการเลื่อนตำแหน่งของสงฆ์ ความรู้ในข้อสอบนั้นไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง คะแนนการสอบไม่มีผลต่อการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หลักสูตรธรรมศึกษานั้นมีมานานกว่าร้อยปีในขณะที่การศึกษาปัจจุบันพัฒนาไปไกลแล้ว ปัยหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในจุดประสงค์ของการสอบธรรมศึกษา ซึ่งมีบ่อยครั้งที่คำถามเหล่านี้ปรากฎตามเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเว็บบอร์ดที่สามารถถาม-ตอบได้ อย่าง  www.pantip.com

 

ทำไมถึงมีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องสอบ ?

อย่างที่เรารู้กันดีว่าวิชาธรรมศึกษานั้นมีมาเป็นร้อยปี แต่ทำไมผู้คนที่สอบวิชานี้ถึงไม่เข้าใจในวัตถุประสงค์ของการสอบ นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการจัดสอบธรรมศึกษาไม่ได้ให้ประโยชน์กับผู้ที่สอบ มิหนำซ้ำผู้คนมากมายยังออกมาเรียกร้องให้มีการชำแหละระบบการสอบอีกด้วย

นอกจากการตั้งคำถามในกระทู้ pantip.com แล้ว ยังมีการแสดงความคิดเห็นจากการตั้งกระทู้บนเฟซบุ๊ก Wiriyah Eduzones โดย ท่าน ดร.วิริยะ ผู้ก่อตั้ง Eduzones.com เกี่ยวกับประเด็นการสอบวิชาธรรมศึกษา ซึ่งความคิดเห็นมีทั้งเนื้อหาที่แสดงถึงการไม่เห็นด้วยและการสนับสนุนให้มีการสอบธรรมศึกษาต่อไป

 

 

ทุกประเด็นที่มีการพูดถึงการสอบธรรมศึกษา ส่งผลให้ย้อนกลับมาคิดว่า “การสอบธรรมศึกษา มีความจำเป็นต่อนักเรียนไทยจริงหรือไม่ ?” ปัญหาที่เกิดขึ้นในสนามสอบธรรมศึกษานั้นเกิดขึ้นทุกปีจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เช่น การโกงข้อสอบ การลอกข้อสอบ การบอกข้อสอบโดยตรง ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้ทำให้บ่อยครั้งที่มีการเกิดการเรียกร้องให้มีการชำแหละการสอบธรรมศึกษา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การศึกษาไทยควรปรับเปลี่ยน ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อจำแล้วนำไปสอบเลื่อนขั้น แล้วการสอบธรรมศึกษาสามารถวัดอะไรได้ในตัวเด็ก ๆ การที่เด็กสอบไม่ผ่านสามารถบ่งบอกได้หรือไม่ว่าบุคคลนั้นไม่เข้าใจในหลักพุทธธรรม แล้วผู้ที่สอบผ่านสามารถถูกยกย่องว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีได้เลยหรือไม่ ?

 

การจัดสอบธรรมศึกษา จะเป็นการสร้างประโยชน์ให้ใคร หรือใครได้ผลประโยชน์จากการสอบครั้งนี้ แล้วนักเรียนได้อะไรจากการสอบธรรมศึกษาหรือได้แค่เกียรติบัตรไว้เพื่อตั้งโชว์เฉย ๆ ?

 

แล้วผู้อ่านล่ะคะ มีความคิดเห็นว่าอย่างไรกัน ยังจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีการสอบธรรมศึกษา ?

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *