บริติช เคานซิล แถลงข่าว ชวนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่แข่งขัน “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” โดยการพรีเซนต์งานวิจัยใน 3 นาที ลุ้นเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันระดับโลก

บริติช เคานซิล แถลงข่าว ชวนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่แข่งขัน “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” โดยการพรีเซนต์งานวิจัยใน 3 นาที ลุ้นเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมแข่งขันระดับโลก

 

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 64 บริติช เคานซิล ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อพวช. สวทช. สอวช. กลุ่มทรู สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และหน่วยงานพาร์ทเนอร์ แถลงข่าว เดินหน้าส่งเสริมทักษะการสื่อสารแก่นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยไทย ผ่านการเปิดตัวโครงการ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (Famelab Thailand 2021) เป็นการแข่งขันสื่อสารหัวข้อเรื่องราววิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ ในรูปแบบที่น่าค้นหา และน่าติดตามภายในสามนาที

ซึ่งการแข่งขันเฟมแล็บในประเทศไทยได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้เป็นปีที่ 6 สู้ และได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักเรียนนักศึกษามาแล้วกว่า 240 คน ในปีนี้กลับมาอีกครั้งเพื่อตามหา 10 สุดยอดนักวิทยาศาสตร์ ที่จะเข้าร่วมการอบรมด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ จากผู้เชี่ยวชาญ และมาประชันความสามารถเพื่อเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับนานาชาติ Famelab International 2021

การรับสมัคร

  • ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย อายุ 21 ปีหรือมากกว่า และกำลังศึกษา หรือทำงานในสายงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM)
  • สามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ได้โดยการส่งเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ หรือหัวข้องานวิจัยของคุณภายใน 3 นาที ผ่านทางวิดีโอ ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2564

 

รูปแบบการแข่งขัน

  • แข่งขันคัดเลือกแบบออนไลน์ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทาง VDO audition จะร่วมออดิชันต่อหน้าคณะกรรมการผ่านระบบออนไลน์ ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2564 เพื่อคัดเลือกผู้เข้ารอบ10 สุดท้าย ที่จะได้เข้าร่วมอบรมมาสเตอร์คลาส

 

  • อบรม masterclass 2 วัน เรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากที่ไหนจากผู้เชี่ยวชาญอังกฤษ ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ และสร้างเครือข่าย Famelabber โดยกิจกรรมจะจัดในรูปแบบ face-to-face ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2564 และผู้เชี่ยวชาญจะเข้าร่วมผ่าน MS Teams*

 

  • แข่งขันรอบชิงชนะเลิศ Final Competition การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในประเทศไทย จะจัดรูปแบบ face-to-face ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 (แบบแผนการเข้าร่วมกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลง ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถขอเข้าร่วมผ่านออนไลน์หากต้องการ)

 

  • แข่งขันรอบนานาชาติ Famelab International ผู้ชนะที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย จะได้พบกับผู้เข้าร่วมโครงการเฟมแล็บ (Famelab) จากทั่วทุกมุมโลก และสัมผัสประสบการณ์การสื่อสารทางด้านวิทยาศาสตร์บนเวทีระดับโลก โดยในปีนี้จะเป็นการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2564

รางวัลเฟมแล็บประเทศไทย (fameLab Thailand)

  • รางวัลชนะเลิศ

ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ จำนวน 20,000 บาท ถ้วยรางวัล ประกาศนียบัตร และหลักสูตรพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือการต่อยอดงานวิจัยจากองค์กรและมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร มูลค่า 80,000 บาท

  • รางวัลรองชนะเลิศ

ผู้ได้รับรางวัลลองชนะเลิศทั้ง 3 อันดับจะได้รับทุนเพื่อพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นจำนวน 10,000 5,000 และ 2,500 บาท สำหรับผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2และอันดับที่ 3 ตามลำดับ พร้อมถ้วยรางวัล และประกาศนียบัตร

  • รางวัล people’s choice award นับจำนวนผ่าน facebook

ผู้ที่ได้รับรางวัล people’s choice award ซึ่งเป็นการนับจำนวนโหวตผ่านเฟซบุ๊ก จะได้รับอุปกรณ์ DJI หรือเทียบเท่า พร้อมถ้วยรางวัล

.ดร.นพ. ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า วิทยาศาสตร์และงานวิจัยมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การผลักดันเรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของภาครัฐได้มีการสร้างองค์ความรู้การสร้างนวัตกรรมการปรับบทบาทมหาวิทยาลัยตลอดจนการสร้างคน ผ่านการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ และนำงานวิจัยให้ใช้ได้จริง สามารถแก้ปัญหาสังคมและความท้าทายระดับโลกได้ นอกเหนือจากเนื้องานวิทยาศาสตร์แล้ว นักวิจัยมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำงานวิจัยของตนออกจากห้องแล็บ และทำให้คนเข้าถึงความรู้ และได้ประโยชน์จากงานวิจัยนั้นมากขึ้น

กระทรวง อว. ได้เดินหน้าผลักดันการสร้างทักษะการสื่อสาร การนำเสนอให้แก่คนในแวดวงวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือต่าง ๆ รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือกับเอกชน เพื่อให้สาธารณชนเข้าถึงความรู้วิทยาศาสตร์ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาเรียนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยในปีนี้ ได้เดินหน้าสนับสนุนการแข่งขันการนำเสนอทางด้านวิทยาศาสตร์ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) ที่จัดขึ้นโดย บริติช เคานซิล ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยผลักดันทักษะการสื่อสาร การใช้ภาษาอังกฤษ การเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนการทำให้เรื่องราววิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายการดำเนินงานของกระทรวงฯ ศ.ดร.นพ. ศิริฤกษ์ กล่าวเพิ่ม

นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล ในฐานะองค์กรนานาชาติเพื่อความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และโอกาสทางการศึกษาจากสหราชอาณาจักร ได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อพวช. สวทช. กลุ่มทรู สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และหน่วยงานพาร์ทเนอร์อีกมากมาย จัดโครงการ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) หรือเวทีการแข่งขันนำเสนองานวิจัย หรือเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าติดตามภายใน 3 นาที ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 6 ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพ ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

นางเฮลก้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสหราชอาณาจักรเอง การสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้ถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการสร้างความมีส่วนร่วมกับสาธารณะ โดยมีหน่วยงานเฉพาะทางที่รับผิดชอบในด้านนี้ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยหลากหลายแห่งในสหราชอาณาจักร อาทิ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน หรือมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ ก็ได้มีการเปิดหลักสูตรเฉพาะทางด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เมื่อผนวกกับความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากตัวเลขการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาที่มากถึง 1.7 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2560 และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2570 ซึ่งทำให้เห็นว่างานวิจัยและเรื่องราววิทยาศาสตร์ เป็นทั้งตัวแปรสำคัญในการพัฒนาประเทศ และเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของประเทศไทยในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ฉะนั้นโครงการเฟมแล็บ ถือเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคลากรในแวดวงระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร ไปพร้อม ๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ให้กับบุคคลทั่วไปในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

นางปิลันธนี พาณิชพัฒน์ ผู้จัดการด้านการสื่อสาร ฝ่ายกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมกลุ่มทรู กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารคมนาคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม กลุ่มทรูยังได้มุ่งมั่นนำเสนอข้อมูลสาระที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” (FameLab Thailand 2021) ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 6 อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องรายการของทรูวิชั่นส์ TNN 24 True4U รวมถึง Socail Media ของกลุ่มทรู โดยโดยปีที่ผ่านมาได้นำศักยภาพด้านการสื่อสาร True VROOM หนึ่งในแพลตฟอร์มคุณภาพภายใต้  True Virtual World มาเสริมการถ่ายทอดสดรอบชิงชนะเลิศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอข้อมูลสาระทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจง่ายให้กับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขาในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมในอนาคต อีกทั้งในอีกแง่มุมหนึ่ง ทักษะการสื่อสารงานวิจัยเองก็เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่จะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ทางทรูเองก็มีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มทรูเล็งเห็นว่า เฟมแล็บ จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยจุดประกายและพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ทั้งที่ทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง รวมไปถึงคนทั่วไปหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ในฐานะเรื่องใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021 เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 3 พฤษภาคม 64 โดยการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจะถูกจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 64 ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th/famelab หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ British Council Thailand

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *