เรียน “จิตวิทยา” จบมาทำอะไรได้บ้าง? มาดูอาชีพยอดฮิตสำหรับคนจบจิตวิทยา

จิตวิทยา (Psychology) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจและกระบวนการของจิต ความคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การศึกษาด้านจิตวิทยา จึงเปรียบเหมือนการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ศึกษาสาขาวิชานี้จะสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ได้ รวมถึงมีสายงานสำหรับผู้ที่จบจิตวิทยามาด้วยกันมากมาย วันนี้เราจึงมีอาชีพยอดฮิต สำหรับคนจบจิตวิทยาที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้มาฝากกันค่ะ

 

นักจิตวิทยาคลินิก

นักจิตวิทยาคลินิกจะปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช โดยมักจะอยู่ในหน่วยงานทางการแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ โดยนักจิตวิทยาคลินิกจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ให้การรักษาทางการแพทย์ เช่น งานจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) งานระบบประสาทและสมอง (Neuroscience) งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู งานยาเสพติด จิตเวชเด็กและวัยรุ่น งานนิติจิตเวช เป็นต้น

 

นักจิตวิทยาอาชญากรรม

อาชีพนี้จะทำการวิเคราะห์ผู้ต้องสงสัยผ่านประวัติการก่ออาชญากรรม รวมถึงประวัติทั่วไปของผู้ต้องสงสัย และวิเคราะห์กันว่าคนไหนมีแนวโน้มที่เข้าข่ายผู้ต้องสงสัย ซึ่งการทำงานเหล่านี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

นักจิตวิทยาผู้บริโภค

อาชีพนี้จะเมีบทบาทในการช่วยศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของกลุ่มเป้าหมาย อาชีพจะเข้ามาช่วยเติมเต็มในการวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า ทำให้บริษัทสามารถทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

 

นักจิตวิทยาการบิน

ด้วยอาชีพนักบินนั้น จะต้องผ่านการทดสอบด้วยกันหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการทำข้อสอบด้านจิตวิทยา ซึ่งนักจิตวิทยาการบินจะเป็นผู้ที่คอยออกแบบข้อสอบ และรวมถึงทำการประเมินบุคลากรภายในองค์กร เพื่อวัดความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของนักบินแต่ละคน และเพื่อป้องการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย

 

นักจิตวิทยาการปรึกษา

นักจิตวิทยาการปรึกษาทำหน้าที่ในฐานะผู้เอื้ออำนวยให้บุคคลที่มารับบริการ ได้เข้าใจปัญหาของตนเองได้อย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการสำรวจภายในตนเอง จนสามารถตระหนักรู้ในตนเองตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ที่ตนมี และนำไปสู่การพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคคล

 

นักจิตวิทยาองค์การ

นักจิตวิทยาองค์การส่วนใหญ่จะทำงานภายในบริษัทหรือองค์กรทั่วไป ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการบริหารทรัพยากรบุคคล คอยควบคุมและศึกษาพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร ประเมินและคอยให้คำปรึกษากับพนักงานแต่ละคน

 

ครูแนะแนว

ครูแนะแนวเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการจัดระบบงานแนะแนวในสถานศึกษา และเป็นผู้ที่คอยให้คำปรึกษาต่างๆ แก่นักเรียน อาทิ ด้านการเรียน การใช้ชีวิตต่างๆ เป็นต้น

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาด้านจิตวิทยาแต่ไม่รู้ว่าจะศึกษาในสาขาใด และมหาวิทยาลัยใดดีก็สามารถเข้าไปดูคณะ/มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้ที่ >>> รวม 14 มหาวิทยาลัยที่มีคณะ/สาขาจิตวิทยาในประเทศไทย

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-https://rtn-d.com

-http://ncga.in.th/

-https://www.admissionpremium.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *