ทิพยประกันภัยจับมือภาคี นำคณะครูอาจารย์ เยือนนครสวรรค์ ร่วมสืบสาน รักษาต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สู่เยาวชนในวิถีใหม่

บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครสวรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรมโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 12” ต้นกำเนิดปลานิลจิตรลดา ท่องพาสาน แลนด์มารค์ใหม่เมืองสี่แคว สักการะเทพเจ้าเมืองปากน้ำโพ เรียนรู้วิถีเกษตรผสมผสาน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครสวรรค์ ส่งต่อการเรียนรู้วิถีใหม่สู่เยาวชนคนรุ่นใหม่

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญในการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมทางด้านการศึกษาให้กับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยนำคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวมแล้ว 300 กว่าคนจาก 151 สถาบัน ร่วมโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ในรูปแบบแบบ Edutainment: ทุกที่คือการเรียนรู้ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผสานการท่องเที่ยววิถีชุมชน และเวิร์กชอป ผ่านนวัตกรรมบอร์ดเกม ที่จะทำให้คณะครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา สามารถที่จะนำไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และครอบครัว ได้ด้วยตนเอง เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจอย่างมีความสุข

โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 12 ตอน “ต้นกำเนิดปลานิลจิตรลดา ท่องพาสาน แลนด์มารค์ใหม่เมืองสี่แคว สักการะเทพเจ้าเมืองปากน้ำโพ เรียนรู้วิถีเกษตรผสมผสาน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดนครสวรรค์” นำคณะครูอาจารย์ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศจำนวน 30 คน ร่วมเรียนรู้ และร่วมกิจกรรมถอดบทเรียน จำนวน 2 วัน 1 คืน ลงพื้นที่โครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา หนองกรด จ.นครสวรรค์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งจำนวน 25 ไร่ จัดตั้งเป็นศูนย์สาธิต และให้บริการวิชาการเกษตร โดยจัดทำเป็นแปลงปลูกพืชแบบผสมผสานรวมทั้งเป็นสถานที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตพืชให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปได้เข้ามาร่วมเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โดยคณะได้ร่วมทำกิจกรรม ปลูกผักกวางตุ้งแบบปลอดสารพิษ ชมการปลูกผักแบบผสมผสาน ชมการเลี้ยงไก่แบบ Happy Chick ตามมาตรฐานการเลี้ยงไก่ พร้อมร่วมเก็บไข่ไก่ ที่สำคัญคือ เรียนรู้ต้นกำเนิดของปลานิลจิตรลดา พร้อมร่วมปล่อยพันธุ์ปลานิลจิตรลดา เนื่องจากเป็นพันธุ์ปลาพระราชทาน ที่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนไทย และทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ของโครงการฯ ได้สืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นอาหารจากปลานิลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชนในละแวกนั้น รวมถึงปลานิลจิตรลดายังเป็นพันธุ์ปลาเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

สำหรับกิจกรรมโครงการทิพยตามรอยพระราชาฯ ในการลงพื้นที่เรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ผ่านมา ได้แก่ 1. ชุมชนบ้านศาลาดิน จังหวัดนครปฐม 2. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี 3. โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี 4. เขื่อนขุนด่านปราการชล ศูนย์ภูมิรักษ์ จังหวัดนครนายก 5. โครงการพัฒนาชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จังหวัดจันทบุรี 6. มหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ 7.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 8. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ 9.อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี 10. สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พื้นที่เงาฝน จังหวัดเพชรบุรี 11. โครงการ อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ จังหวัดสมุทรสงคราม

ทางด้าน ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวถึงโครงการ “หนังสือเดินทางตามรอยพระราชา” ว่า “ทางศูนย์คุณธรรมได้จัดทำหนังสือโครงการตามรอยพระราชาที่คัดสรร 9 เส้นทาง 81 แหล่งการเรียนรู้ 4,877 โครงการ เพื่อให้คณะครูอาจารย์ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ศึกษาศาสตร์พระราชา ลงมือทำกิจกรรมเสริมทักษะเรียนรู้และต่อยอด พร้อมสร้างความเข้าใจและเข้าถึงคุณธรรม 4.0 คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และเพื่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพัฒนา ‘ศาสตร์พระราชา’ ให้ชาวบ้านนำมาปฏิบัติจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น” โดยครั้งนี้ จะเป็นหนังสือเดินทางตามรอยพระราชา เส้นทางภาคเหนือตอนล่าง เรียนรู้แปลงปลูกพืชแบบผสมผสาน โครงการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา วัดศรีอุทุมพร (หนองกรด) จังหวัดนครสวรรค์

นอกจากนี้ กิจกรรมสำคัญในการตามรอยพระราชาทุกครั้งคือ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนจะได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ ‘King Bhumibol Adulyadej of Thailand’ จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยจึงรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม”

หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูอาจารย์ได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอสประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป

หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจร่วมเรียนรู้นวัตกรรมศาสตร์พระราชา สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิธรรมดี เว็บไซต์ http://www.do-d-foundation.com แฟนเพจ: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey Facebook: มูลนิธิธรรมดี
และ LINE Official: @dfoundation

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *