รมว.ศธ. เผยไม่ใช้คะแนนโอเน็ตประเมินครู-บุคลากรทางการศึกษา

 

สพป.ปทุมธานี เขต 1 ถอยออกเกณฑ์ใหม่แล้ว ตัดทิ้งเกณฑ์ผล “โอเน็ต” พิจารณาเลื่อนเงินเดือนครู “ตรีนุช” ลั่น ศธ.ไม่ใช้คะแนนโอเน็ตมาเป็นตัวชี้วัดความดีความชอบครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

ตามที่มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร้องเรียนเรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรวงเงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งหนึ่ง ว่า ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรวงเงินเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2564)

โดยนำเรื่องสถานศึกษาที่มีผลการประเมินการสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาจัดสรรวงเงินเพิ่มเติมฯ ขณะที่ปีการศึกษาที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายไม่บังคับสอบ โอเน็ต แต่ผลการสอบโอเน็ตกลับมามีผลในการเลื่อนเงินเดือนของครูและบุคลากรทางการศึกษา ทำให้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม นั้น

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง เปิดเผยว่า ตนได้สอบถามข้อร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยัง นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แล้ว ได้รับคำชี้แจงว่า สพฐ.มีหลักเกณฑ์กลางในการจัดสรรวงเงินฯ เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว และเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สพฐ.ก็ได้มีหนังสือด่วนที่สุด เรื่องซักซ้อมการเลื่อนเงินเดือนข้าราชการและเลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำ ครั้งที่ 1 (1 เมษายน 2564 ) แจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ

โดยในส่วนของภารกิจหลักตามบริบทของสถานศึกษาไม่มีการใช้ผลคะแนนโอเน็ต ซึ่งข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้นเกิดจากความเข้าใจผิดของ สพป.ปทุมธานี เขต 1 ซึ่ง สพฐ.ได้สั่งการให้ สพป.ปทุมธานี เขต 1 ดำเนินการแก้ไขปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวใหม่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่นำผลการทดสอบ โอเน็ต มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอีก

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกับผู้บริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรนำผลการทดสอบโอเน็ต มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ นำมาเป็นผลในการพิจารณาความดีความชอบ ไม่นำมาเป็นตัวชี้วัดในการประเมิน เพื่อขอมีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนไม่มีผลในการพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

– https://moe360.blog/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *