CMMU เล็งปั้น “นักบริหารรุ่นใหม่” เชี่ยวชาญนวัตกรรม ธุรกิจอาหาร และธุรกิจสุขภาพ รองรับการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุในไทยอย่างสมบูรณ์

วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) หนุนการผลิตนักบริหารรุ่นใหม่ สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรม ธุรกิจอาหารและธุรกิจสุขภาพ รองรับตลาดสุขภาพและการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุในไทยอย่างสมบูรณ์ ผ่าน 3 หลักสูตรปริญญาโทภาคไทย ดังนี้ 1. สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ 2. สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร และ 3. สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม พร้อมเผยปัจจุบันทุกธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมและอิทธิพลของเทคโนโลยี (Social Disruption) การเกิดโควิด-19 และปี 2564 ยังมีอีกนัยสำคัญที่ต้องเน้นย้ำเทรนด์สุขภาพและกลุ่มผู้สูงอายุ เมื่อโครงสร้างสังคมไทยเข้าสู่ยุค เอจจิ้ง โซไซตี้ อย่างสมบูรณ์ แต่บุคลากรมีไม่เพียงพอ ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) และเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการรองรับอุตสาหกรรมสุขภาพที่กำลังเติบโตทั่วโลก ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสนับจากนี้เร่งสร้างนักบริหาร นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมปรับตัวธุรกิจให้ทันต่อโลกอนาคต

ดร.กฤษกร สุขเวชชวรกิจ หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ (HBM) กล่าวว่า แม้เรื่องเอจจิ้ง โซไซตี้ (Aging Society) หรือสังคมผู้สูงอายุถูกพูดถึงมาหลายปี แต่ปีนี้ต้องเน้นย้ำเพราะเทรนด์สังคมผู้สูงวัยเริ่มต้นชัดเจนมากขึ้น จากข้อมูลวิจัยพบว่า ประชากรไทยกว่า 20% มีอายุเกิน 60 ปี และอีก 10 ปีต่อจากนี้จะกลายเป็น Hyper-Aged Society สังคมผู้สูงอายุมากกว่า 28% เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ประกอบกับอัตราการดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันลดน้อยลงจากอดีต ลูกหลาน 3-4 คนดูแลผู้สูงอายุ 1 ท่าน จากเดิม 9 คนต่อผู้สูงอายุ 1 ท่าน และในอนาคตจะเหลือ 2 คนต่อผู้สูงอายุ 1 ท่าน และหากเป็นวัยทำงานต้องรับหน้าที่ดูแล จะเกิดปัญหาไม่มีคนทำงาน รายได้หาย ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) มีผู้ให้บริการสาธารณสุข (Healthcare Provider) 27,000 กว่าคน มีโรงพยาบาลเอกชน (Private Hospital) ราว 400 โรง และมีโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน JCI ราว 70 โรง หรือเทียบเท่ามาตรฐาน GMP/ISO ระดับท็อป ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างพร้อมสำหรับผู้สูงอายุ และตลาดสุขภาพ จึงเหมาะแก่การสนับสนุนสร้างนักบริหารยุคใหม่และการนำนวัตกรรมมาใช้

ดังนั้น สาขาการจัดการธุรกิจสุขภาพ จึงตั้งใจออกแบบหลักสูตรที่ไม่ใช่เพียงตอบโจทย์ธุรกิจ เพื่อผลิตผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยแก้ปัญหาสังคมเพื่อการดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้น โดยมีหลักสูตร 3 กลุ่มวิชา ได้แก่
1. Business Management การบริหารจัดการธุรกิจ 2. Healthcare Management การบริหารจัดการธุรกิจด้านสุขภาพ และ 3. Digital & Innovation for Healthcare ซึ่งสามารถนำนวัตกรรมและองค์ความรู้ไปพัฒนาช่วยเหลือผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ได้ เช่น Telehealth/ Telemedicine ช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการตรวจสุขภาพใกล้บ้านและเร็วขึ้น แก้ปัญหาการเดินทางหลายชั่วโมงไปตรวจที่โรงพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้สาขาได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐด้านงบประมาณ ทุนวิจัย หรือทุนสำหรับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาธุรกิจในตลาดสุขภาพและตลาดผู้สูงอายุอีกด้วย

ด้าน ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร (FBM) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร นับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างรายได้และสร้างงานให้กับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามธุรกิจอาหารในปัจจุบันมีความท้าทายหลายประการ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างนวัตกรรมอาหารรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเข้าสู่ ‘สังคมผู้อายุ’ ดังนั้น สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร จึงมุ่งเน้นการสร้างความเป็นมืออาชีพในธุรกิจอาหารและเกษตร ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลป์ในการจัดการสมัยใหม่ เพื่อให้เกิดทักษะและแนวทางการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพในธุรกิจอาหาร อาทิ Food Styling, Food Innovation and Management ภายใต้แนวคิด Foodpreneur วางแผนธุรกิจอาหารอย่างไรไม่ให้เจ๊ง เพราะธุรกิจอาหารจะประสบความสำเร็จและยั่งยืนได้ ไม่ใช่เพียงแค่ความอร่อยเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจผู้บริโภคและผลิตภัณฑ์อย่างแท้จริง รวมถึงวิธีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน

ดังนั้นสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร จึงได้พัฒนาและออกแบบหลักสูตรที่จะตอบโจทย์ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจอาหารและเกษตร ทั้งด้านการจัดการธุรกิจร้านอาหารและบริการ (Food Service) และด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Product) โดยจะมุ่งเน้นการเรียนรู้จริงจากผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารและการเกษตร นอกจากนี้สาขาการจัดการธุรกิจอาหารยังมีพันธมิตรในการร่วมพัฒนาธุรกิจอาหารเพื่อสังคม เช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยดุสติธานี  โครงการ Food Innopolis ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบัน Le Cordon Bleu รวมทั้งแมชชิ่ง (Matching) นักศึกษาที่สนใจทำวิจัยด้านอาหาร เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยกับอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น

ส่งท้ายด้วย ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรม (EI) กล่าวว่า จุดเด่นของสาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรมคือ การรวมกลุ่มคนผู้ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากเดิม เพื่อนำไปผลิตสินค้าใหม่หรือพัฒนาธุรกิจที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร ธุรกิจสุขภาพ หรือธุรกิจอื่นๆ ตอบโจทย์โลกปัจจุบันและอนาคต ออกมาเป็นรูปแบบ Business Plan ใช้ได้จริง ซึ่งในสาขาแบ่ง 3 ประเภท ประกอบด้วย 1. Innovative Entrepreneur ผู้สนใจสร้างกิจการใหม่ด้วยนวัตกรรม 2. Transformational Successor ผู้ที่ต้องสืบทอดกิจการด้วยแนวคิดใหม่ 3. Social Entrepreneur ผู้ที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม และในการเข้าสู่ยุคสังคมผู้อายุนี้ ยกตัวอย่างหากผู้ประกอบการต้องการทำที่พัก อาหาร หรือปรับธุรกิจทางบ้านให้สอดรับกับตลาดผู้สูงอายุ สาขาจะทำหน้าที่ช่วยเปิดมุมมองทั้งด้าน Entrepreneurial Mindset กระบวนการมองโอกาส Creativity & Design ความคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา Technology Adoption การนำเทคโนโลยีมาใช้และเพิ่มประสิทธิภาพในบริบทต่างๆ และ Business Management การจัดการธุรกิจต่างๆ นอกจากนี้สาขาถือเป็นแหล่งขยายคอนเนคชั่นสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดทางธุรกิจในมุมมองใหม่ๆ อีกด้วย

ผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สามารถสมัครเรียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 20 มิถุนายน 2564 ผ่าน www.cm.mahidol.ac.th/cmmu สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-206-2000 หรือเพจเฟซบุ๊ก CMMU Mahidol (https://www.facebook.com/CMMUMAHIDOL)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *