รมว.ศธ. ถก ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ เตรียมรับมือเปิดเทอม 14 มิ.ย.นี้

รมว.ศธ. ถก ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ เตรียมรับมือเปิดเทอม 14 มิ.ย.นี้ ยึดผู้เรียนเป็นหลัก พร้อมยืดหยุ่นนร.-ลดภาระผปค

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ได้เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ว่า ตนได้เน้นย้ำกับผู้อำนวยการ สพท. และโรงเรียนทั่วประเทศ ถึงการจัดการเรียนการสอนภายใต้ชีวิตวิถีใหม่ เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ 

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ออกรูปแบบการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ ให้โรงเรียนไปประยุกต์ให้ตามบริบทพื้นที่ ได้แก่ 1.On Site 2.On Air 3.Online 4.On Demand 5.On Hand ซึ่งโรงเรียนสามารถจัดการเรียนแบบผสมผสานรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งนี้ตนเน้นย้ำว่าการจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบนี้ โรงเรียนต้องสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียนมากที่สุด และจับต้องได้ด้วย ทั้งนี้ อยากให้แต่ละพื้นที่ได้แนะนำ สะท้อนปัญหา และสะท้อนแนวคิดการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะกับบริบทของตน เพื่อให้ทาง ศธ.รับทราบเป็นข้อมูล เพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่ได้

รมว.ศธ.กล่าวต่ออีกว่า ตนเน้นย้ำให้ สพท.และโรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น โดยจะต้องจัดการเรียนการสอนภายใต้ความปลอดภัยของผู้เรียน และต้องให้ผู้เรียนมีความสุขด้วย เพราะการเรียนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้เรียนอาจจะมีความเครียดอยู่แล้ว ถ้านักเรียนเครียด ไม่ว่าครูจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร ผู้เรียนอาจจะไม่ได้รับความรู้มากเท่าที่ควร การเรียนการสอนควรเน้นแบบ active learning เพราะถ้าจะยึดการเรียนการสอนที่เน้นองค์ความรู้เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ตอบโจทย์การเรียนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19

“เราต้องพยายามจะคิดว่ามีรูปแบบการเรียนอะไรบ้างที่สอดรับกับสถานการณ์นี้ มากกว่าที่จะต้องคิดแบบเดิมๆ โดยต้องนำเอาสถานการณ์มาปรับใช้กับองค์ความรู้ที่มีอยู่ ทั้งนี้ ต้องยึดว่าจะต้องทำให้ผู้เรียนมีความสุขด้วย นอกจากนี้ ดิฉันมอบนโยบายให้นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) คิดมาตรการลดภาระให้ผู้ปกครอง ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ดิฉันจะหารือกับผู้บริหารของ ศธ. อีกครั้งถึงการปรับและทบทวนวิธีการวัดและประเมินผลผู้เรียน เพราะเมื่อการเรียนการสอนจะต้องปรับไปตามบริบทของพื้นที่ อาจจะไม่สามารถวัดและประเมินผลในรูปแบบเดิมได้” น.ส.ตรีนุชกล่าว

นอกจากนี้น.ส.ตรีนุช ยังได้กล่าวในประเด็นการแต่งชุดนร.อีกว่า ช่วงที่ผ่านมาจะพบดราม่าการแต่งชุดนักเรียนมานั่งเรียนออนไลน์ หรือแต่งชุดนักเรียนเคารพธงชาติที่บ้านนั้น มองว่าสภาพพื้นที่ สภาพบริบทของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน จึงอยากให้ผู้อำนวยการ สพท. และผู้อำนวยการโรงเรียน พิจารณาจัดการเรียนการสอนภายใต้สภาพพื้นที่ของตนด้วย เช่น โรงเรียนมีความยากลำบาก อาจจะยืดหยุ่นเรื่องการแต่งตัวของนักเรียน แต่ถ้าโรงเรียนไหนมีความพร้อม ให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน อาจจะให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนเพื่อสร้างความเป็นระเบียบวินัย เป็นต้น ศธ.มีโรงเรียนที่มีความหลากหลาย ดังนั้น ผู้อำนวยการ สพท.และผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจ โดยยึดหลักความยืดหยุ่นเป็นหลัก และช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีความผ่อนคลาย มีความสุข และลดภาระผู้ปกครองด้วย

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-https://www.matichon.co.th/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *