ศูนย์ IDE ม.หอการค้าไทยมุ่งสร้างนักศึกษาสู่เจ้าของธุรกิจตัวจริง

การทำธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ในอดีตการทำธุรกิจของผู้ประกอบการนั้นยังไม่ได้มุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีมากนัก หากมองย้อนไป 20-30 ปีที่แล้ว ประเทศไทยยังไม่มีรถยนต์ จะมีการนำเข้ารถมาเพื่อประกอบ และบริษัทใหญ่ๆ ในสมัยก่อนนั้นล้วนแต่เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับการซื้อขาย (Trading Company) ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อของจากประเทศอื่นและนำเข้ามาขายในประเทศไทย แต่ถ้าบริษัทไหนที่มีการผลิตสินค้าเองก็จะมีการขอใบอนุญาตการออกแบบจากประเทศนั้นๆ เพื่อนำมาผลิตเองในประเทศไทย สุดท้ายนำมาขายให้กับคนไทย ทำให้ตัวลูกค้าเองหรือคนไทยไม่มีข้อเปรียบเทียบระหว่างสินค้า หรือตัวเลือกให้เลือกมากนัก เพราะผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ๆ นั้นไม่ได้สร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเอง แต่นำเข้าเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ มาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ส่งผลให้หลายบริษัทที่เติบโตและทำธุรกิจประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มาจากกระบวนการความคิดทำธุรกิจรูปแบบนี้

ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบซ ผู้อำนวยการหลักสูตร IDE มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ในปัจจุบันประเทศไทยมีการแข่งขันในเรื่องของการทำธุรกิจมากมาย มีบริษัทเกิดขึ้นใหม่โดยกลุ่มบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ต้องแข่งขันกันเอง เพราะไม่สามารถที่จะไปแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่และโตอยู่แล้วระดับประเทศ ในกรณีที่พบเจอบ่อย คือ เห็นผู้ประกอบการที่มีไอเดียความคิดที่จะทำแบบบริษัทขนาดใหญ่ เช่น ความคิดอยากนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาขาย หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาขายในประเทศไทย ซึ่งถ้าเป็นผู้ประกอบการคนแรกๆ ที่เริ่มทำและเริ่มนำเข้ามาขายนั้น แน่นอนว่าสามารถสร้างรายได้ดี อาจจะได้เท่าเงินเดือนหรือมากกว่าเงินเดือนก็เป็นไปได้ แต่เรามองไม่เห็นว่านี่เป็นโอกาสจริงๆ สำหรับผู้ประกอบการ เราจึงพยายามสร้างผู้ประกอบการที่มีความคิดว่าจะทำสิ่งใหม่ๆ ทีเรียกว่า “นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี” เพราะเราเห็นว่าโอกาสของผู้ประกอบการ คือ การสร้างสิ่งที่บริษัทใหญ่ทำไม่ได้ จึงอยากที่จะเปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันให้เป็นอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้บอกว่าการนำเข้าสินค้ามาขายนั้นไม่ดี แต่การทำธุรกิจจริงๆ อยากส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนั้นมีความคิดที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองปัญหาของผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคเห็นถึงสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ ผู้บริโภคจะให้ความสนใจและเกิดความนิยม ส่งผลให้ธุรกิจนั้นมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดหลักสูตรใหม่ในวิทยาลัยผู้ประกอบการ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับคณะอื่นๆ หลักสูตรนี้เริ่มตั้งแต่วันแรกที่นักศึกษาก้าวเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยจะเริ่มสอนให้นักศึกษาเข้าใจความคิด (Mindset) นี้ ได้แก่ การสำรวจตลอดเวลา การทดลองอย่างรวดเร็วและการลงมือทำทันที โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ทักษะความเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเรียน และจะมีโครงการให้ทำตลอดเวลา เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษาเข้าใจการลงมือทำงานจริงๆ และเป็นการสร้างประสบการณ์ในการทำงานให้กับพวกเขา อาจารย์ที่จะมาให้ความรู้เป็นอาจารย์จากภายนอกที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการทำงานจริงๆ มาให้ความรู้ โดยอาจารย์ที่เราเลือกมานั้นล้วนเป็นลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการมีบริษัทเป็นของตนเอง ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรใหม่ที่จะเปิดในปีการศึกษาเดือนสิงหาคม 2564 นี้”

“เนื่องจากศูนย์ IDE ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนั้นได้มีความร่วมมือกับทาง MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานหลายภาคส่วนค่อนข้างมาก ทางศูนย์นำความรู้ ความคิดและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาจากหลายภาคส่วน มาปรับใช้ในหลักสูตรวิทยาลัยผู้ประกอบการปีนี้ด้วยเช่นกัน โดยหลักสูตรจะไม่เน้นให้ทุกคนอ่านหนังสือ แต่จะเน้นให้ปฏิบัติ ซึ่งทุกคนจะต้องลงมือทำจริง ทุกโครงการที่นักศึกษาทำนั้นจะต้องลงมือทำจริงทุกกระบวนการในการทำงาน เริ่มจากการตั้งคำถาม ลงไปสำรวจจากพื้นที่จริง สอบถามถึงปัญหาต่างๆ และหาวิธีการแก้ไขปัญหา โดยปี 1 จะสอนทุกอย่างทีเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการรวมถึงการแสดง การถ่ายวิดีโอ การสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมาย พอขึ้นปี 2 และ 3 จะมีโปรเจคที่ทางคณะกำหนดให้นักศึกษาลงมือทำ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการทำงานให้กับนักศึกษา โดยแต่ละปีจะมีงานที่แตกต่างกันออกไป เพราะจะดูเทรนด์ในแต่ละปีว่าปีนั้นอะไรที่กำลังมาแรง เพื่อให้นักศึกษาคิดค้นงานออกมาให้ตอบสนองกับเทรนด์ตอนนั้นมากที่สุด เมื่อขึ้นปีที่ 4 ทุกคนจะต้องคิดค้นไอเดียเองและลงมือทำงานเองทุกกระบวนการ เนื่องจากนักศึกษาปีที่ 4 ผ่านการเรียนรู้ทุกอย่างมาแล้วจาก 3 ปีที่ผ่านมา มีประสบการณ์ในการทำงาน เข้าใจในนวัตกรรมและเทคโนโลยีหลากหลายแบบ ดังนั้นเมื่ออยู่ชั้นปีที่ 4 นักศึกษาจะพร้อมกับการทำงานทุกรูปแบบ สมองจะพร้อมคิดค้นนวัตกรรมและไอเดียใหญ่ๆ ที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ เมื่อไอเดียที่คิดมีความน่าสนใจและเป็นไปได้ ทางมหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนโดยลงทุนร่วมกับนักศึกษา เพื่อผลิตให้เกิดขึ้นจริง นักศึกษาในวัยนี้ไม่จำเป็นต้องมีความพร้อม เพราะเพียงแค่คุณมีความคิดสร้างสรรค์และมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่แตกต่างมุมมองของผู้ใหญ่ ก็อยากจะให้นักศึกษาลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ และเมื่อไหร่ที่เจอปัญหาก็อยากจะให้หาข้อมูลและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ครู อาจารย์ เพื่อทำให้ความคิดของนักศึกษานั้นออกมาประสบความสำเร็จทางธุรกิจให้ได้” ดร.เอ็ดเวิร์ด กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *