รองเลขาธิการ กพฐ. ชี้เรียนออนไลน์ต้องประเมินผลได้ พร้อมเปิดให้เด็กต่างรร.เรียนได้

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) นายสนิท แย้มเกษร นายสนิท แย้มเกษร พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 6/2564 ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในการประชุม เพื่อหารือข้อราชการและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของ สพฐ. โดยมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ อาทิ ความก้าวหน้าการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน แนวทางการจัดการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ความปลอดภัยของผู้เรียน ข้อจำกัดในการบริหารงบประมาณของ สพฐ. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และการรวม/การเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

 ประธาน กพฐ นายเอกชัย กี่สุขพันธ์. ได้กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดก็ตาม ต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งในที่ประชุมได้เสนอว่า เราต้องประเมินรูปแบบการเรียนในแต่ละรูปแบบว่ามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กเป็นอย่างไร ซึ่งหากจัดการเรียนอย่างเดียวโดยไม่ได้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ก็ถือว่าไม่มีประโยชน์ 

ทั้งนี้เราควรเปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนออนไลน์สามารถเรียนต่างโรงเรียนได้ เช่น โรงเรียนแข่งขันสูงที่จัดเรียนออนไลน์ ควรให้นักเรียนโรงเรียนอื่นสามารถ ลงทะเบียนเข้ามาเรียนร่วมด้วยได้ ถือเป็นการเปิดกว้างทางความรู้ให้กับเด็ก ทำให้เกิด SDL (Self-Directed Learning) คือการนำตนเองในการเรียนรู้ ถ้าหากเด็กมีความสนใจใฝ่รู้และมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ต่างโรงเรียนก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ควรจำกัดเฉพาะนักเรียนของตัวเอง หากสามารถส่งเสริมให้เด็กเรียนในรูปแบบนี้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาตนเองของเด็กเป็นอย่างมาก

สำหรับเรื่องตัวชี้วัด เราจะใช้ตัวชี้วัดเดียวกับเด็กที่เรียนแบบปกติไม่ได้ และต้องหลีกเลี่ยงการนำห้องเรียนไปอยู่ที่บ้านเด็กโดยไม่มีความยืดหยุ่น เช่น พอถึงเวลา 8:00 น. เด็กต้องมานั่งหน้าจอเพื่อเรียนวิชานี้ พอถึงเวลา 10:00 น. ก็ต้องไปเรียนอีกวิชาหนึ่ง แต่เราควรเน้นที่ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนหรือสมรรถนะที่เด็กควรจะทำได้ ดังนั้นต้องมีความยืดหยุ่น ไม่เน้นในเรื่องการนับเวลาเข้าเรียนอย่างเดียว เพราะในสถานการณ์เช่นนี้เราจะใช้วิธีการวัดแบบปกติไม่ได้ 

และเชื่อว่าในอนาคตการเรียนรู้ของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่กลับไปเป็นแบบเดิม ซึ่งในอนาคตถึงแม้จะไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาดแล้ว แต่เชื่อว่าต่อไปจะมีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบผสมผสานมากขึ้น โดยเราไม่ได้มองความสำคัญของรูปแบบที่จัด แต่มองที่ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งในส่วนนี้เราต้องมีระบบการประเมินที่ชัดเจน

“ในเรื่องงบประมาณก็ได้ฝากให้ สพฐ. ลงไปดูว่าโรงเรียนใดที่มีครูเกินจำนวน หรือโรงเรียนอยู่ใกล้กัน หากสามารถควบรวมได้ก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ ส่วนโรงเรียนใดที่จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-Demand หรือเรียนผ่านทางโทรทัศน์ ในบางพื้นที่ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการรับชม อาจของบประมาณจากกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และขอความสนับสนุนจาก กสทช. ในเรื่องของอุปกรณ์รับชมได้” ประธาน กพฐ. กล่าว

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *