กสศ.- มธ.ร่วมสร้างแบบประเมินความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

กสศ.– มธ. ร่วมสร้างแบบประเมินความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในกลุ่มเด็ก ม.3 เผยเด็กไทยอยู่ในภาวะ “เสี่ยงเรียน เสี่ยงจิต เสี่ยงชีวิต เสี่ยงเหลื่อมล้ำ” ผุดเครื่องมือช่วยสแกนทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำงาน เพื่อให้สถานศึกษาเติมทักษะให้พร้อม ช่วยหยุดส่งต่อความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำรุ่นต่อรุ่น  

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน กล่าวว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)  ได้จัดทำโครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับบริบทของไทย และพัฒนาต้นแบบ (Prototype) ระบบประเมินความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานแบบ ออนไลน์ พร้อมทั้งระบบฐานข้อมูลที่พร้อมรองรับข้อมูลรายจังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นใน 5 จังหวัด จำนวน 1,200 คน ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนทราบระดับความพร้อมและสามารถค้นหาอาชีพที่ตนเองต้องการ ช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการศึกษาเล่าเรียน ลดอัตราการออกกลางคัน ลดการทำงานไม่ตรงกับวุฒิการศึกษา นอกจากนี้แล้ว Career Readiness Survey จะให้ข้อมูลแก่หน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ที่สามารถนำไปใช้กำหนดแผนยุทธศาสตร์และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อปรับทิศทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานได้ด้วย

“สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้นักเรียนไทยตกอยู่ในภาวะ 4 เสี่ยง ได้แก่ เสี่ยงเรียน เสี่ยงจิต เสี่ยงชีวิต และเสี่ยงเหลื่อมล้ำ เด็กต้องเรียนออนไลน์ เสี่ยงต่อการการเรียนตกต่ำและถดถอยลง เด็กเก่งหรือเด็กที่มีความพร้อมยังพอประคองเอาตัวรอดไปได้ แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีความพร้อมจะยิ่งถูกทิ้งห่างออกไปไกล จึงเกิดช่องว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อน เมื่อเจอสภาพแบบนี้เด็กจะเกิดความกดดัน เพราะเรียนไม่รู้เรื่อง ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็เจอกับสภาพฝืดเคืองทางการเงิน กลายเป็นความกดดันจากครอบครัว ส่งผลเสี่ยงต่อสุขภาพจิต อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เด็กที่มีน้องเล็กก็ต้องดูแลน้อง ขณะที่พ่อแม่ก็มีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปต้องดิ้นรนมากขึ้น เป็นความเสี่ยงในชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน ทั้งเรื่องการเรียน การเงิน และโรคระบาด สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำระยะยาว ระหว่างเด็กที่มีความพร้อมกับเด็กที่ไม่พร้อม”ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า แบบประเมินที่ใช้จะทดสอบทักษะที่จำเป็น 5 มิติ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการทำงาน ประกอบด้วย 1. การคำนวณพื้นฐานสำหรับใช้ในการทำงาน 2. พื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือแอปพลิเคชันที่จำเป็นในการทำงาน  3. ทักษะการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในการทำงาน 4. ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ และ 5. ทักษะทางสังคมและการทำงาน (Soft Skill) เช่น บุคลิก ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ซึ่งจากการประเมินผลเด็กในกลุ่มตัวอย่างพบว่าเด็กกว่า ร้อยละ 50 ไม่มีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน ร้อยละ 40 อยู่ในระดับปานกลาง และมีเพียง ร้อยละ 10 เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีทักษะเหมาะสม โดยทักษะที่มีปัญหามากที่สุดคือ ทักษะด้านการคำนวณพื้นฐาน และทักษะด้านการสื่อสารพื้นฐาน ซึ่งแบบประเมินความพร้อมฯ ที่จัดทำขึ้นจะเป็นเครื่องมือช่วยหาแนวทางพัฒนาเด็กที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบ ม.3 ได้เหมาะสม เพราะจากการสำรวจพบว่า เด็กที่เข้าสู่ตลาดแรงงานหลังจบ ม.3 กว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานที่ขาดทักษะฝีมือ ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง และไม่สามารถพัฒนาเป็นฝีมือแรงงานได้ ทำให้ได้รับค่าจ้างต่ำ และรับค่าจ้างระดับนั้นไปตลอดชีวิต ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มักสมรสในกลุ่มเดียวกัน เป็นการส่งต่อความยากจนและความเหลื่อมล้ำจากรุ่นสู่รุ่น แต่หากเราสามารถพัฒนาให้เด็กมีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นครบถ้วน จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานที่มีรายได้มากขึ้น รวมถึงมีโอกาสที่เขาอาจจะศึกษาได้ตามอัธยาศัย หยุดการส่งต่อความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ ลงได้ในที่สุด

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวต่อไปอีกว่า แบบประเมินฯ จะช่วยให้สถานศึกษาชี้เป้าได้ว่า เด็กแต่ละคนควรได้รับการพัฒนาทักษะด้านใด และสถานศึกษายังสามารถพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะกับการพัฒนาเด็ก โดยโรงเรียนสามารถสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ร่วมกับนายจ้าง ปราชญ์ชุมชน และพ่อแม่ เพื่อจัดทำหลักสูตรพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมก่อนเข้าตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสม ตามบริบทของสังคม ซึ่ง ขณะนี้โครงการฯ ได้จัดทำแบบประเมินต้นแบบในเฟสแรกเรียบร้อยแล้ว โดยระยะต่อไปจะนำแบบประเมินดังกล่าวไปใช้กับโรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของ กสศ. จำนวน 34 แห่ง และระยะที่ 3 จะขยายผลไปสู่การใช้ประเมินเด็กทั่วประเทศ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าการใช้แบบประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะช่วยพัฒนาเด็กที่ไม่พร้อมให้มีทักษะและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่าง ๆ ลงได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *