งานวิจัยใช้ได้จริง!“ก้านกล้วยกันกระแทก” ย่อยสลายได้ ราคาไม่แพง ผลงานนักวิจัยโลจิสติกส์ สวนสุนันทา

“ก้านกล้วยกันกระแทก” จากแนวคิดการลดการใช้พลาสติกในงานโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าที่มีขนาดเล็ก ต่อยอดผลงานนวัตกรรมจากวัสดุทางธรรมชาติ เป็น “ก้านกล้วยกันกระแทก” สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและราคาไม่แพง เป็นผลงานวิจัยที่สามารถลดขยะจากการขนส่งได้จำนวนมากสำหรับการขนส่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบัน สามารถเพิ่มคุณค่าในการรักษาสิ่งแวดล้อมของแบรนด์สินค้าได้อีกด้วย
🥇การันตีเหรียญรางวัลจากการเวทีประกวดรัสเซีย #ARCHIMEDES2020
♦ จำหน่ายราคา: กิโลกรัมละ 160 บาท ♦
สนใจติดต่อ : อาจารย์ปิยะอร ศรีวรรณ E-mail : Piyaon.sr@ssru.ac.th

“ก้านกล้วยกันกระแทก” นวัตกรรมใหม่ของอาจารย์สวนสุนันทา

คว้ารางวัลนานาชาติ ลดขยะด้านโลจิสติกส์พร้อมย่อยสลายได้

อาจารย์ปิยะอร ศรีวรรณ สาขาวิชาธุรกิจพาณิชยนาวี วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้ารางวัลเหรียญทองแดง “bronze” จากผลงานวิจัยนวัตกรรมใหม่ วัสดุกันกระแทกทางชีวภาพ (Bio-cushioning Material from Banana Trunk” “ก้านกล้วยกันกระแทก” เวทีนานาชาติในงาน 23rd Moscow International Salon of Inventions and Innovative Technologies “ARCHIMEDES” ณ สหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-27 มีนาคม 2563 ด้วยการนำเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์

อาจารย์ปิยะอร กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นการจัดทำผลงานชิ้นนี้เกิดจากนักวิจัยต้องการลดการใช้พลาสติกในงานโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้าที่มีขนาดเล็ก เพราะในปัจจุบันมีการจัดส่งสินค้าขนาดเล็กจากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยจำนวนมาก นับเป็นหลายพันล้านชิ้นต่อปี ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญในการจัดส่งประกอบไปด้วยกล่องพัสดุ กันกระแทก เชือกหรือเทปกาว ทั้งหมดที่กล่าวมาเมื่อสินค้าถึงมือลูกค้าแล้ว ก็จะหมดประโยชน์กลายเป็นขยะทันที นักวิจัยจึงเริ่มจากกันกระแทกเป็นส่วนแรก เนื่องจากส่วนใหญ่ผลิตมาจากโฟมและพลาสติกไม่สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ และยังมีอายุการใช้งานสั้น เนื่องจากการจัดการการขนส่งที่รวดเร็วกว่าเดิมมากจากอดีต”

อาจารย์ปิยะอร กล่าวอีกว่า “ “ดังนั้นผู้จัดทำจึงตั้งโจทย์เพื่อการลดขยะจากการขนส่งสินค้า จึงทำการศึกษาพืชที่มีลักษณะทางกายภาพเหมาะสมที่จะทำหน้าที่กันกระแทกสินค้า คือ มีน้ำหนักเบา ราคาถูก หาง่ายในประเทศ และนั่นคือก้านกล้วย เพราะเป็นสิ่งที่เหลือใช้จากการเกษตรและหาได้ง่ายในประเทศไทย โดยนักวิจัยนำมาเข้ากระบวนการอบ เพื่อไล่น้ำในก้านกล้วยออกไปให้หมด ด้วยอุณหภูมิ เวลาและความดันที่เหมาะสม ก็จะได้ก้านกล้วยที่แห้งสนิทแต่ยังคงสภาพรูปร่างเป็นทรงของก้านกล้วย”

“นอกจากนี้ นักวิจัยได้ทำการถ่ายภาพด้วยกล้อง scanning electron microscope (SEM) เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างภายในหลังอบเสร็จ และสรุปว่าก้านกล้วยกันกระแทกเหมาะแก่การใส่รวมไปกับสินค้าที่อาจแตกเสียหายได้ขณะขนส่ง เพื่อป้องกันการกระทบกันของสินค้าหรือการโยนสินค้าทำให้เกิดการเสียหาย ส่งผลให้ลูกค้าไม่พึงพอใจและเป็นต้นทุนทางโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น

เพราะฉะนั้น กันกระแทกจากก้านกล้วยจึงตอบโจทย์นักวิจัยที่ตั้งไว้ คือ กันกระแทกสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติและราคาไม่แพง เป็นผลงานวิจัยที่สามารถลดขยะจากการขนส่งได้จำนวนมากสำหรับการขนส่งสินค้าออนไลน์ในปัจจุบัน และนักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มคุณค่าในการรักษาสิ่งแวดล้อมของแบรนด์สินค้าได้อีกด้วย” อาจารย์ปิยะอร กล่าวในที่สุด

ที่มาและติดตามข้อมูลได้ที่ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *