สทศ. จัดสอบอะไรบ้าง?

สทศ. มีชื่อเต็มคือ สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ(องค์การมหาชน) ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “National Institute of Educational Testing Service (Public Organization)” เรียกโดยย่อว่า “NIETS” อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

สทศ. จัดสอบอะไรบ้าง?

1. O-NET

มีชื่อเต็มว่า  Ordinary National Educational Test  คือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน เพื่อทดสอบระดับความรู้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

O-NET สอบไปทำไม?

O-NET    กับน้อง ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

เพื่อเป็นการทดสอบระดับความรู้ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 การสอบครั้งนี้ถือเป็นการสอบครั้งเดียวในเท่านั้นในชั้นปีนี้ คะแนนจะติดตัวไปตลอดชีวิตบางโรงเรียนใช้คะแนน O-NET ในการสมัครเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และผลสอบนี้ยังประเมินคุณภาพของโรงเรียนอีกด้วย

O-NET    กับน้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

เพื่อเป็นการทดสอบระดับความรู้ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 การสอบครั้งนี้ถือเป็นการสอบครั้งเดียวในเท่านั้นในชั้นปีนี้ คะแนนจะติดตัวไปตลอดชีวิตของเราเลย บางโรงเรียนใช้คะแนน O-NET ในการสมัครเข้าเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 การสอบนี้ถือว่ายังเป็นการทดสอบความพร้อมของตนเองเพื่อเป็นการวางแผนพัฒนาตัวเองในระดับชั้นม.ปลาย และผลสอบนี้ยังประเมินคุณภาพของโรงเรียนเช่นเดียวกัน

O-NET    กับน้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

ในการสอบ O-NET ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถือว่าเป็นการสอบอีกรอบที่สำคัญมาก ๆ เพราะสอบได้แค่รอบเดียว คะแนนนี้ก็จะอยู่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต นักเรียน ม. 6 ที่ต้องการเข้าเรียนกลุ่ม กสพท. คะแนนรวมทุกวิชาต้องไม่ต่ำกว่า 60% TCAS บางคณะ บางมหาวิทยาลัยจะกำหนดคะแนนขั้นต่ำ O-NET  ถ้าไม่สอบอาจทำให้ไม่จบ ม. 6 เพราะทุกโรงเรียนมีการบังคับสอบ และยังตัดโอกาสซิ่วในอนาคต เฉพาะรอบ 4 Admission เพราะใช้สัดส่วนคะแนน O-NET 30% มีค่าเท่ากับ 9,000 คะแนน สุดท้ายแล้วถ้าพลาดสอบครั้งนี้ก็จะไม่มีโอกาสสอบอีกแล้วเพราะสอบ O-NET ได้แค่ในปีการศึกษาที่จบเท่านั้น

O-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?

นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาคณิตศาสตร์
  • วิชาวิทยาศาสตร์

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาคณิตศาสตร์
  • วิชาวิทยาศาสตร์

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาคณิตศาสตร์
  • วิชาวิทยาศาสตร์
  • วิชาสังคมศึกษา

O-NET สมัครสอบยังไง?

สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บของสทศ. https://www.niets.or.th/th/

2.V-NET

มีชื่อเต็มว่า Vocational National Education Test การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ทางด้านอาชีวศึกษา เป็นการทดสอบวัดระดับความรู้มาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สำหรับนักศึกษาอาชีวศึกษา ที่จะจบระดับชั้น ปวช.3 V-NET เทียบได้กับการทดสอบ O-NET ของนักเรียนสายสามัญที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 6

V-NET สอบไปทำไม?

การสอบ V-NET สอบเพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2556 เป็นการประเมินผลการเรียนรู้นักเรียนระดับชาติ ผลสอบยังนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของสถานศึกษาและประกันคุณภาพการศึกษา

V-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?

ตามโครงสร้างหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช 2545 ปรับปรุง พ.ศ. 2546 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย วิชาสามัญ ไม่น้อยกว่า 26 หน่วยกิต วิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 66 หน่วยกิต และวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 10 หน่วยกิต รวมทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า 102 หน่วยกิต ฉะนั้นข้อสอบ V-NET ควรจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ข้อสอบวิชาสามัญ (ประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ วิชาภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และวิชาพละศึกษาและสุขศึกษา) ประมาณ ร้อยละ 20-25 และข้อสอบวิชาชีพตามสาขาวิชาที่เรียน ประมาณร้อยละ 75-80

V-NET สมัครสอบยังไง?

สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บของสทศ. https://www.niets.or.th/th/

3.I-NET

มีชื่อเต็มว่า Islamic National Educational Test การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอิสลามศึกษา จัดสอบเพื่อนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายของหลักสูตรอิสลามศึกษา ได้แก่ อิสลามศึกษาตอนต้น อิสลามศึกษาตอนกลาง และอิสลามศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร,นนทบุรี,ประจวบคีรีขันธ์  กระบี่, ชุมพร, ตรัง,นครศรีธรรมราช,นราธิวาส, ปัตตานี, พังงา, พัทลุง ,ภูเก็ต, ยะลา ,ระนอง ,สงขลา , สตูล  ,สุราษฎร์ธานี และศูนย์ตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

I-NET สอบไปทำไม?

เป็นการสอบเพื่อวัดระดับความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546  ผลสอบนี้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน หรือนำผลสอบไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ

I-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?

ระดับชั้นอิสลามตอนต้น มีแบบทดสอบจำนวน 3 ฉบับ

แบบทดสอบที่ 1

  • วิชาอัลกุรอาน-อัตตัฟซีร
  • วิชาอัลหะดีษ
  • วิชาอัลอะกีดะฮ์
  • วิชาอัลฟิกฮ์

แบบทดสอบที่ 2

  • วิชาอัตตารีค
  • วิชาอัลอัคลาก

แบบทดสอบที่ 3

  • วิชาภาษาอาหรับ
  • วิชาภาษามลายู

ระดับชั้นอิสลามตอนกลาง มีแบบทดสอบจำนวน 4 ฉบับ

แบบทดสอบที่ 1

  • วิชาอัลกุรอาน-อัตตัฟซีร
  • วิชาอัลหะดีษ

แบบทดสอบที่ 2

  • วิชาอัตตารีค
  • วิชาอัลอัคลาก

แบบทดสอบที่ 3

  • วิชาอัลอะกีดะฮ์
  • วิชาอัลฟิกฮ์

แบบทดสอบที่ 4

  • วิชาภาษาอาหรับ
  • วิชาภาษามลายู

ระดับชั้นอิสลามตอนปลาย มีแบบทดสอบจำนวน 4 ฉบับ

แบบทดสอบที่ 1

  • วิชาอัลกุรอาน-อัตตัฟซีร
  • วิชาอัลหะดีษ

แบบทดสอบที่ 2

  • วิชาอัลอะกีดะฮ์
  • วิชาอัลฟิกฮ์

แบบทดสอบที่ 3

  • วิชาอัตตารีค
  • วิชาอัลอัคลาก

แบบทดสอบที่ 4

  • วิชาภาษาอาหรับ
  • วิชาภาษามลายู

I-NET สมัครสอบยังไง?

วิธีการสมัครสอบ I-NET จะเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาในการส่งรายชื่อข้อมูลนักเรียนและนำส่งข้อมูลห้องเรียนไปยังสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.

4.B-NET

มีชื่อเต็มว่า Buddhism National Educational Test คือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้น พื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้น พื้นฐานพุทธศักราช 2551

B-NET สอบไปทำไม?

การสอบ B-NET สอบเพื่อวัดระดับความรู้ของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม ผลสอบนี้จะเป็นตัวประเมินผลการเรียนของนักเรียนระดับชาติ นำไปใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนและประกันคุณภาพการศึกษา

B-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?

  • วิชาภาษาบาลี
  • วิชาธรรม
  • วิชาพุทธประวัติ
  • วิชาวินัย

B-NET สมัครสอบยังไง?

สำหรับการสมัครสอบ B-NET นั้น โดยปกติแล้วโรงเรียนจะเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก โดยหลังจากที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสอบแล้ว สถานศึกษาหรือโรงเรียนต่างๆก็เตรียมรวบรวมรายชื่อนักเรียนส่งไปยัง สทศ. หรือสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หลังจากนั้นจะมีการประกาศรายชื่อ รายละเอียดสนามสอบต่างๆต่อไป

5.N-NET

มีชื่อเต็มว่า Non-Formal National Education Test คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบโรงเรียน เป็นการสอบเพื่อประเมินสถานศึกษา คะแนนสอบจึงไม่มีผลกับเกรดผู้เรียน จัดสอบในนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

N-NET สอบไปทำไม?

การสอบ N-NET นั้นเป็นการสอบเพื่อประเมินสถานศึกษา โดยคะแนน N-NET จะเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพหลักสูตรโดยรวม รวมถึงการเรียนการสอนอีกด้วย หากคะแนนของนักเรียนที่สอบมาต่ำกว่าเกณฑ์ ก็จะบอกได้ว่าหลักสูตรการเรียนการสอนควรปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และคะแนน N-NET ยังมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการนำไปประกอบการสำเร็จการศึกษาในระดับนั้น ๆ

N-NET ต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?

ระดับประถมศึกษา

  • ฉบับที่ 1 ประกอบไปด้วย วิชาทักษะการเรียนรู้ ช่องทางการเข้าสู่อาชีพ ทักษะการประกอบอาชีพ วิชาการพัฒนาอาชีพให้มีอยู่มีกิน เศรษฐกิจพอเพียง สุขศึกษา พลศึกษา และศิลปศึกษา
  • ฉบับที่ 2 ประกอบไปด้วย วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและหน้าที่พลเมือง สุดท้ายคือการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

  • ฉบับที่ 1 ประกอบไปด้วย วิชาทักษะการเรียนรู้ ช่องทางการพัฒนาอาชีพ ทักษะการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็ง เศรษฐกิจพอเพียง สุขศึกษา พลศึกษา และศิลปศึกษา
  • ฉบับที่ 2 ประกอบไปด้วย วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและหน้าที่พลเมือง รวมไปถึงวิชาการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

  • ฉบับที่ 1 ประกอบไปด้วย วิชาทักษะการเรียนรู้ ช่องทางการขยายอาชีพ ทักษะการขยายอาชีพ การพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง เศรษฐกิจพอเพียง สุขศึกษา พลศึกษา และศิลปศึกษา
  •  ฉบับที่ 2 ประกอบไปด้วย วิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและหน้าที่พลเมือง รวมไปถึงวิชาการพัฒนาตนเอง ชุมชน สังคม

N-NET สมัครสอบยังไง?

วิธีการสมัครสอบ N-NET จะเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาในการส่งรายชื่อข้อมูลนักเรียนและนำส่งข้อมูลห้องเรียนไปยังสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. หลังจากนั้นจะมีการประกาศราชยชื่อ รายละเอียดสนามสอบต่างๆต่อไป

6.วิชาสามัญ

9 วิชาสามัญ เดิม 7 วิชาสามัญ แต่เพื่อให้ครอบคลุมกับเนื้อหาของสายศิลป์ จึงเพิ่มอีก 2 วิชาเข้าไป เป็นข้อสอบสำหรับเข้า 4 กลุ่มคณะในระบบ กสพท. และการสอบรับตรงร่วมกันสำหรับคณะทั่วไปในสถาบันส่วนใหญ่ เป็นการสอบของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเด็กที่ซิ่วมาก็สามารถลงสอบได้ โดยการจัดสอบจะมีปีละ 1 ครั้ง

วิชาสามัญสอบไปทำไม?

การสอบวิชาสามัญเป็นการสอบเพื่อนำคะแนนไปยื่นเข้ามหาลัย คะแนนนี้ใช้ยื่นสมัคร TCAS เกือบทุกรอบ นั่นคือรอบ 2, 3, 4 และ 5 ซึ่ง เกณฑ์หรือสัดส่วนคะแนน ที่ต้องใช้ในการสมัครสอบ TCAS แต่ละรอบ จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นผู้กำหนด และหลาย ๆ มหาลัยจำเป็นต้องใช้คะแนนจากการสอบตรงนี้

วิชาสามัญต้องสอบวิชาอะไรบ้าง?

  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาสังคมศึกษา
  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาคณิตศาสตร์ 1
  • วิชาฟิสิกส์
  • วิชาเคมี
  • วิชาชีววิทยา
  • วิชาคณิตศาสตร์ 2 (สายศิลป์)
  • วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป (สายศิลป์)

 *แต่ละคณะของมหาลัยเกณฑ์การใช้ วิชาสามัญ ไม่เหมือนกัน จึงไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา

กลุ่มสายวิทย์สุขภาพ ใช้ 7 วิชา เช่น คณะแพทยศาสตร์ ทันตะ เภสัช สัตวแพทยศาสตร์ พยาบาล สหเวชศาสตร์ กายภาพบำบัด

  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาสังคมศึกษา
  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาคณิตศาสตร์ 1
  • วิชาฟิสิกส์
  • วิชาเคมี
  • วิชาชีววิทยา

กลุ่มสายวิทยาศาสตร์ ใช้ 4 วิชา เช่น คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

  • วิชาฟิสิกส์
  • วิชาเคมี
  • วิชาชีววิทยา
  • วิชาคณิตศาสตร์ 1

สายศิลป์คำนวณ ใช้ 4 วิชา เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ   คณะเศรษฐศาสตร์

  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาสังคมศึกษา
  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาคณิตศาสตร์ 1 หรือ วิชาคณิตศาสตร์ 2 (บางสาขา เช่น การท่องเที่ยวและโรงแรม)

กลุ่มสายศิลป์แบบใช้ 5 วิชา เช่น คณะกลุ่มสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์

  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาสังคมศึกษา
  • วิชาภาษาอังกฤษ
  • วิชาคณิตศาสตร์ 2
  • วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป

กลุ่มสายศิลป์แบบ ใช้ 3 วิชา เช่น อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์

  • วิชาภาษาไทย
  • วิชาสังคมศึกษา
  • วิชาภาษาอังกฤษ

วิชาสามัญสมัครสอบยังไง?

สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บของสทศ. https://www.niets.or.th/th/

 

7.GAT/PAT

GAT มีชื่อเต็มว่า General Appitude Test คือความถนัดทั่วไป แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนเชื่อมโยง และส่วนภาษาอังกฤษ

PAT มีชื่อเต็มว่า Professinal Appitude Test คือความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ ประกอบด้วยรายวิชาทั้งหมด 12 วิชาเป็นการสอบจะดูว่านักเรียนมีความถนัดวิชาชีพที่จะเลือกเรียนมากน้อยแค่ไหน เรียกได้ว่าเป็นการวัดความรู้ขั้นพื้นฐานกับศักยภาพที่เราจะเลือกเรียนวิชานั้น ๆ

การสอบGAT/PATทุกคนมีสิทธิสอบ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนที่เป็นเด็กซิ่ว หรือสายอาชีพ โดย 1 ปีการศึกษาจะมีการจัดสอบเพียงแค่ 2-3 ครั้ง และโดยเฉลี่ยแล้ว คะแนนจะมีอายุอยู่ได้ประมาณ 2 ปี

GAT/PATสอบไปทำไม?

คะแนนสอบ GAT/PAT เพื่อนำไปยื่นเข้ารับการคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ในระบบรับตรง ส่วนตรงนี้จะอยู่ที่แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด และคะแนนต้องยื่นในระบบแอดมิชชั่น (Admission) โดยคิดค่าน้ำหนักของคะแนนอยู่ในสัดส่วนระหว่าง 10%-50% ส่วนที่เหลือนั้นก็มาจากสัดส่วนรวมกันของเกรด(GPAX) และคะแนน          O-NET ถ้าไม่มีคะแนน GAT/PAT ก็ไม่สามารถยื่นสมัครแอดมิชชั่นได้นั้นเอง

GAT/PATสอบวิชาอะไรบ้าง?

GAT ข้อสอบจะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 GAT เชื่อมโยง คือ การวัดความสามารถในการอ่าน/การเขียนและการคิดเชิงวิเคราะห์การแก้โจทย์ปัญหา และวัดความสามารถในการสื่อสารพื้นฐาน โดยไม่เน้นการท่องจำ

ส่วนที่ 2 GAT อังกฤษ คือ การทดสอบความรู้ ความสามารถในการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วย Speaking and Conversation, Vocabulary, Structure and Writing, Reading Comprehension

โดยทั้ง 2 พาร์ท จะมีสัดส่วนคะแนนเต็ม 150 คะแนน/ต่อวิชา ซึ่งรวมกันแล้ว คะแนนเต็มทั้งหมดคือ 300 คะแนนด้วยกัน

PAT มีทั้งหมด 7 สาขาวิชา

PAT 1 คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น บริหาร-บัญชี, เศรษฐศาสตร์, มนุษยฯ-อักษรฯ,สังคมศาสตร์) ยื่นคะแนนรูปแบบที่1 พื้นฐานสายวิทย์ หรือศิลป์คำนวณ

PAT 2 คือ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ-กายภาพ, คณะวิศวกรรมศาสตร์)

PAT 3 คือ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์)

PAT 4 คือ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้ คือ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ )

PAT 5 คือ ความถนัดทางวิชาชีพครู (กลุ่มคณะที่ใช้คือ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์)

PAT 6 คือ ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ (กลุ่มคณะที่ใช้คือ คณะศิลปกรรมศาสตร์)

PAT 7 คือ ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ (กลุ่มคณะที่ใช้ เช่น การโรงแรมและท่องเที่ยว, มนุษยฯ-อักษรฯ-,สังคมศาสตร์) ยื่นคะแนนรูปแบบที่ 2 พื้นฐานสายศิลป์ ประกอบด้วย

– PAT 7.1 ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส

– PAT 7.2 ความถนัดทางภาษาเยอรมัน

– PAT 7.3 ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น

– PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน

– PAT 7.5 ความถนัดทางภาษาอาหรับ

– PAT 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี

PAT ไม่จำเป็นต้องสอบทุกวิชา ให้เลือกสอบเฉพาะที่ต้องนำไปใช้ในการยื่นคะแนนเข้าคณะที่เราต้องการจะเข้าเท่านั้น

GAT/PATสมัครสอบยังไง?

GAT/PAT สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บของสทศ. https://www.niets.or.th/th/

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *