เจาะลึกเรื่องน่ารู้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีชื่ออังกฤษว่า Thammasat University; อักษรย่อคือ มธ. – TU เป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งในชื่อ “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” (มธก.) จากแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ต้องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่เน้นการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตย และจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบอย่างมาก ผู้ประศาสน์การ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ชื่อมหาวิทยาลัยถูกตัดคำว่า “การเมือง” ออก เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งอยู่ที่ไหน?

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มี 4 วิทยาเขตได้แก่

  • ท่าพระจันทร์
  • ศูนย์รังสิต
  • ศูนย์พัทยา
  • ศูนย์ลำปาง

สถานที่สำคัญมหาวิทยาลัย

  • ตึกโดม เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ ภายในอาคารโดม เมื่อเดินจากบันไดกลางขึ้นไปบนชั้น 2 ห้องแรกจะเป็นห้องทำงานของบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง ซึ่งห้องเดียวกันนี้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นศูนย์บัญชาการขบวนการเสรีไทยที่มีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำ โดยทำงาน ร่วมกับคณะเสรีไทยสายอังกฤษและสายสหรัฐอเมริกา
  • หอประชุมใหญ่ ถูกนำมาใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของทางมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการไหว้ครู การพระราชทานปริญญาบัตร รวมทั้งยังใช้เป็นห้องเรียนในวิชาพื้นฐาน สำหรับวิชาที่มีนักศึกษาระดับพันคนขึ้นไป
  • ลานปรีดี และอนสุรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ก่อสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ อาวุโสผู้นำขนวนการเสรีไทย และบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ที่ประเทศฝรั่งเศส
  • ลานโพธิ์ สัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของธรรมศาสตร์และสังคมไทย นับตั้งแต่ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อเรียกร้อง รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
  • กำแพงวังหน้า วังหน้าเป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อมีการสร้างพระราชวังหลวงในปี พ.ศ. 2325 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ทรงสร้างวังหน้าขึ้นพร้อมกันทางด้านทิศเหนือของพระราชวังหลวง และอยู่ชิดกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้สร้างอาคารอเนกประสงค์ 2 ขึ้นใหม่ จึงมีการขุดพื้นดินต่าง ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดแสดงรูปร่างของกำแพงวังหน้าให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมว่า กาลครั้งหนึ่ง พื้นที่บริเวณนี้เป็นสถานที่ตั้งของวังหน้า
  • สนามฟุตบอล บริเวณที่เป็นอาคารอเนกประสงค์ในปัจจุบันนี้ ในยุคแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นที่ตั้งของอาคารเรียนและอาคารที่พักของนักเรียนโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ต.มธก.ในระหว่างปี พ.ศ. 2481-2488

บุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย

  • ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์
  • ศาสตราจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์
  • ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์

สีประจำมหาวิทยาลัย

สีประจำมหาวิทยาลัย คือ สีเหลือง-แดง หลักฐานว่าสีเหลือง-แดงคือสีประจำมหาลัยนั้นไม่เด่นชัด รู้เพียงว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เลือก ซึ่งอาจมาจากความต้องการเอาสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของศาสนาเหมือนดังธรรมจักร กับสีแดง ซึ่งแสดงความเข้มข้นคือ เลือด

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ต้นหางนกยูง มีความเป็นมาคือ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2506 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ทรงปลูกต้นหางนกยูง จำนวน 5 ต้นประชุมใหญ่เพื่อให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ตามที่นักศึกษาขอพระราชทาน ซึ่งผู้ขอคือ นายวิทยา สุขดำรง

ตราธรรมจักรประจำมหาวิทยาลัย

ตราธรรมจักรของมหาวิทยาลัย มีความหมายว่า สถาบันแห่งนี้ยึดถือคติธรรมของพุทธศาสนาเป็นหลักกล่อมเกลาบัณฑิต กึ่งกลางธรรมจักร คือ พานรัฐธรรมนูญ หมายถึง การยึดมั่น เชิดชูรัฐธรรมนูญ เป็นหลักการที่ทางมหาวิทยาลัยยึดถือ และประพฤติปฏิบัติเสมอมา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนคณะอะไรบ้าง?

แต่เดิมตอนเป็น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง วิชาที่เปิดสอนมี 2 แขนงคือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตและวิชาการบัญชี เมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการจัดการเรียนการสอนแยกออกเป็น 4 คณะ คือ

  • คณะนิติศาสตร์
  • คณะรัฐศาสตร์
  • คณะเศรษฐศาสตร์
  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดสอนทั้งหมด 19 คณะ 7 วิทยาลัย 5 สถาบัน ได้แก่

  • คณะนิติศาสตร์
  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
  • คณะรัฐศาสตร์
  • คณะเศรษฐศาสตร์
  • คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
  • คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
  • คณะศิลปศาสตร์
  • คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์
  • คณะสหเวชศาสตร์
  • คณะทันตแพทยศาสตร์
  • คณะพยาบาลศาสตร์
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์
  • คณะเภสัชศาสตร์
  • คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์

วิทยาลัย

  • วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์
  • วิทยาลัยนวัตกรรม
  • วิทยาลัยสหวิทยาการ
  • วิทยาลัยโลกคดีศึกษา
  • สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธs
  • วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์

สถาบัน

  • สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์
  • สถาบันไทยคดีศึกษา
  • สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา
  • สถาบันภาษา
  • สถาบันอาณาบริเวณศึกษา

ไม่บังคับเรื่องการแต่งกาย

  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้เสรีในเรื่องการแต่งกายเข้าเรียน เพราะไม่มีการบังคับให้นักศึกษาใส่ชุดนักศึกษาในวันที่ไปเรียนปกติ แต่ถ้ามีสอบก็หรือพิธีการต่าง ๆ ต้องใส่ชุดนักศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

 

มหาลัยธรรมศาสตร์ดูแลห้างสรรพสินค้า 2 แห่งได้แก่

  • TU Dome จะมีศูนย์อาหาร ร้านค้าชั้นนำ ร้านค้าต่าง ๆ เช่น MK, KFC, ร้านหนังสือ, ร้านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
  • อินเตอร์โซน จะมีห้องเธียร์เตอร์ ห้องอบรม ห้องสัมมนา ลานกิจกรรม และศูนย์บริการ ร้านค้าต่าง ๆ รอบอาคาร เช่น สระว่ายน้ำ, ธนาคาร, ร้านถ่ายรูป เป็นต้น

มหาลัยธรรมศาสตร์มีแอปให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

แอปมีชื่อว่า mildmood เป็นแอปให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิต ถ้านักศึกษาเกิดความเครียดหรือมีปัญหาต่าง ๆ สามารถทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อประเมินสุขภาพจิต และมีวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเกิดความเครียด โดยมีนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการช่วยพัฒนาระบบ

งานฟุตบอลประจำประเพณี

ในแต่ละปีจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างมหาลัยธรรมศาสตร์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะสลับกับเป็นเจ้าภาพ ถ้าปีไหนใครได้เป็นเจ้าภาพก็ขึ้นชื่อด้วยมหาวิทยาลัยนั้น เช่น ปีนี้มหาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพก็จะใช้ชื่อว่า “งานฟุตบอลประจำปีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ”

เว็บไซต์ : https://tu.ac.th/

Facebook : thammasat.uni

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *