มทร.ธัญบุรี ‘สอนเขียนลายสไบมอญ’ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง

เกษตรอำเภอเมืองปทุมธานี จัดกระบวนการเรียนรู้ “การเขียนลายผ้าสไบมอญ”ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชนกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง โดยมี อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ และ ผศ.รุ่งทิวา เทพปิตุพงศ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เป็นวิทยากรการฝึกปฏิบัติเขียนลายผ้าสไบมอญในครั้งนี้ ณ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม วัดสำแล จ.ปทุมธานี

นางสาวจรรยา ทุกข์จาก เกษตรอำเภอเมืองปทุมธานี เล่าว่า ชาวบ้านตำบลบ้านกระแชง ว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน ได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อให้มีรายได้เกิดขึ้น โดยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี ได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้และนำสมาชิกไปศึกษาดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ กิจกรรมการทำอาหารแปรรูป โดย “หมี่กะทิโบราณ สูตรชุมชนบ้านเตาอิฐ” มีชื่อเสียงเนื่องจากมีรสชาติอร่อยและมีกรรมวิธีการทำที่เป็นเอกลักษณ์ ปี 2559 ทางกลุ่มได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการปักผ้าสไบมอญ เพื่อเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์ วัฒนธรรมด้านการแต่งกายของชาวไทยเชื้อสายรามัญในจังหวัดปทุมธานี โดยการปักด้วยมือวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญา ผ่านลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกพิกุล ลายดอกมะเขือ ลายเถาดอกไม้ ลายดาวล้อมเดือน และลวดลายที่คิดขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี คือ ลายดอกบัวหลวง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี ให้เป็นที่รู้จักและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกรวมทั้งคนในชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบกิจการในระดับที่สูงขึ้น มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และเสริมทักษะในการเขียนสไบมอญให้กับทางกลุ่ม จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้มาให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้กับทางกลุ่ม โดยมีสมาชิกสนใจเข้าร่วม 15 คน

ทางด้าน อาจารย์สุระจิตร แก่นพิมพ์ วิทยากรและอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ผ้าสไบมอญเป็นเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิงที่ใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น งานบุญ งานรื่นเริงและงานศพ เป็นต้น ทางกลุ่มซื้อสไบมอญที่เขียนลายสำเร็จที่วางขายตามท้องตลาดมาปักมือ ระยะเวลาในการปักมือขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละบุคคล ซึ่งลวดลายที่ปักเป็นลวดลายเดิม ๆ การมีลวดลายใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสไบมอญของทางกลุ่ม การฝึกปฏิบัติการเขียนลวดลายในวันนี้ การประยุกต์ลวดลาย ผสมผสาน โบราณและสมัยใหม่เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความสะดวกและง่ายสอนวิธีการลอกลายลงบนกระดาษ นอกจากสามารถนำไปใช้ในการเขียนสไบมอญแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดในงานอื่น ๆ เช่น เสื้อ ผ้าถุง กระเป๋า ได้อีกด้วย

นางมัณฑนา ชูพินิจ อายุ 72 ปี เลขานุการกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง เล่าว่า สมาชิกโดยส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ ทางกลุ่มยังขาดทักษะและวิธีในการเขียนลวดลาย ทางกลุ่มจึงสไบมอญสำเร็จที่มีขายตามท้องตลาดมาปัก 1 ผืนราคาประมาณ 200 – 300 บาท ใช้เวลาในการปักมือประมาณ 1 อาทิตย์ต่อ 1 ผืน ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคน โดยลวดลายตามท้องตลาดเป็นลวดลายเดิม ๆ จึงอยากเขียนลวดลายเอง อยากมีความรู้ วิธีและลวดที่อาจารย์นำมาสอนในวันนี้ เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก และมีลวดลายใหม่ ๆ สอนเทคนิคในการคัดลอกลวดลายลงผ้า ทำให้ประหยัดงบค่าใช้จ่าย ได้ลวดลายที่ต้องการ ในอนาคตมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม สร้างรายได้ให้กับทางกลุ่มต่อไป


นายวีระศักดิ์ กลิ่นชื่น อายุ 65 ปี เล่าว่า สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ น่าสนใจนำงานโบราณมาผสมผสานกับงานสมัยใหม่ อยากศึกษาวิธีการทำสไบมอญ ไม่อยากให้วัฒนธรรมโบราณหายไป เคยเห็นสไบมอญ แต่ไม่เคยรู้ว่ามีขั้นตอนในการทำอย่างไร ส่วนใหญ่มองว่างานสไบมอญเป็นงานของผู้หญิง แต่ด้วยความชอบจึงสนใจ และจะนำไปต่อยอดต่อไปในอนาคต
นางวราลักษณ์ ควรพินิจ อายุ 54 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชมรมเพื่อนปาริชาต เล่าว่า สนในเข้าร่วมโครงการเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดทำลวดลายกระเป๋ากระจูด การฝึกเขียนลายสไบมอญในวันนี้ ได้เทคนิคในการเขียนลวดลาย การฉลุลวดลาย ถ้านำวิธีไปใช้ในการเพ้นท์กระเป๋าจะช่วยลดเวลาในการเพ้นท์กระเป๋า ได้ลวดลายใหม่ ๆ ทันสมัย ทำให้ได้รับความสนใจออเดอร์จากลูกค้า

สำหรับผู้สนใจสไบมอญ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านกระแชง จังหวัดปทุมธานี ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่คุณหรรษา จั่นเพชร โทร.089-4566555

………………………

ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี รายงาน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *