งานเดลิเวอรี่และการจัดการโลจิสติกส์ 1 ใน 9 อาชีพอนาคตไกล ที่จะไม่โดนหุ่นยนต์มาแทนที่

สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างทั่วโลก โดยเฉพาะในห้วงวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเล่นงานชาวโลกจนร่วงกันระนาวอยู่ในขณะนี้

ในแง่มุมของตัวเลขการเติบโตของธุรกิจด้านนี้ โดยเฉพาะ “งานเดลิเวอรี่และการจัดการโลจิสติกส์” ล้วนมีการเติบโตที่ก้าวกระโดด จึงถือเป็นสาขาอาชีพที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน จากทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน

นั่นหมายถึงว่า เป็นสาขาที่ แทบจะการันตีได้ว่า “เรียนจบแล้วไม่ตกงาน” แน่นอน 100 %

หันมามองในส่วนของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ก็เปิดไฟเขียวเดินหน้าผลิตกำลังคน ด้าน “สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน” รวมทั้งสาขาอื่น ๆ 7 สาขาอาชีพ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S – Curve) ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

โดยสาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชนนั้น เป็นอาชีพที่มีข้อมูลชี้ชัดว่าต้องการกำลังคนถึงกว่า 6,623,713 คน แต่ประเทศไทยเรายังมีความสามารถการผลิตกำลังคนได้แค่ 38,970 คนเท่านั้น

7 สาขาอาชีพ ที่รัฐบาลเร่งผลิตและพัฒนากำลังคนก็มีดังนี้…

1. สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน (ช่างซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง)
ความต้องการกำลังคน (Demand) 7,280 คน (วิศวกรและช่างเทคนิค) ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) มีเพียง 5,670 คน

2. สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน
นักวางแผนอุปสงค์ พนักงานควบคุมยานพาหนะมืออาชีพประเภทรถบรรทุกและนักจัดการโลจิสติกส์มืออาชีพด้านสินค้าเกษตรที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ
ความต้องการกำลังคน (Demand) 6,623,713 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 38,970 คน

3. สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ผู้ปฏิบัติงานหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
ความต้องการกำลังคน (Demand) 11,521 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 7,140 คน

4. สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ 9 สาขา ได้แก่ นักพัฒนาระบบและนักทดสอบระบบ นักพัฒนาเกมและแอนิเมชัน, นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ และนักบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นักพัฒนาการเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ ช่างโครงข่ายปลายทางด้านเครือข่ายใยแก้วนำแสง และนักบริหารโครงการสารสนเทศ
ความต้องการกำลังคน (Demand) มากกว่า 87,427 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 29,670 คน

5. สาขาอาชีพอาหารและเกษตร นักจัดการความปลอดภัยอาหาร นักพัฒนาอาหาร เกษตรกรอัจฉริยะ กลุ่มอาชีพโคนม กลุ่มอาชีพข้าว เป็นต้น ความต้องการกำลังคน (Demand) 177,314 คน ความสามารถการผลิตกำลังคน (Supply) 48,864 คน

6. สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน ช่างเทคนิค สาขาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และช่างเทคนิคสาขาการกลั่นและปิโตรเคมี ความต้องการกำลังคน (Demand) 2,137คน ความสามารถในการผลิตกำลังคน (Supply) 500 คน

7. สาขาอาชีพแม่พิมพ์ โดยนำร่องในสาขาอาชีพช่างแม่พิมพ์
ยังไม่มีข้อมูล Demand และ Supply เนื่องจากจะนำร่องในสาขาอาชีพแม่พิมพ์โดยจัดทำโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องและต่อเนื่องกันไป ซึ่ง (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนในแต่ละสาขาอาชีพ ความสามารถในการผลิตกำลังคน จำนวนที่ต้องผลิตกำลังคนเพิ่มเติม

1 ใน 9 อาชีพอนาคตไกล ที่จะไม่โดนหุ่นยนต์มาแทนที่

สอดคล้องกับระดับนานาชาติ โดย Mariano Mamertino นักเศรษฐศาสตร์จาก EMEA ของเว็บไซต์ Indeed และ Glassdoor เว็บไซต์ด้านการงานชื่อดังวิเคราะห์ไว้ในปี 2021 นี้ถึง 9 สาขาอาชีพด้านใดที่จะรุ่งและไม่ถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ดังนี้ (ที่มา https://www.brandthink.me/)

1. เชฟ
การได้ออกไปทานข้าวนอกบ้านเพื่อลองเมนูใหม่เป็นกิจกรรมโปรดของใครหลายคน เมนูพวกนี้ต้องใช้เชฟที่มีทั้งความสามารถด้านการปรุงและชิมอาหารเพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารจานเด็ด จึงไม่แปลกหากลูกค้าจะไว้ใจให้เชฟตัวเป็นๆ รังสรรค์เมนูสุดพิเศษมากกว่าจะให้เชฟหุ่นยนต์ทำอาหาร เชฟจึงเป็นอาชีพที่อยู่รอดในยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในเกือบทุกอย่าง โดยตำแหน่งเชฟบนเว็บไซต์ Indeed มักจะว่างนานกว่าสามเดือน

2. งานการตลาด งานสื่อสาร และงานออกแบบ
งานพวกนี้ต้องใช้การคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และจินตนาการอันล้ำเลิศเพื่อออกแบบไอเดียใหม่ๆ แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากแค่ไหนแต่หุ่นยนต์ก็คงปิ๊งไอเดียดีๆ ไม่เก่งเท่ามนุษย์ ความคิดสร้างสรรค์ใช้การระดมสมอง ขยายขอบเขตความคิดธรรมดาให้กว้างและหลากหลายแง่มุมเพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเท่าสมองมนุษย์ เพราะฉะนั้นหากคุณมีความคิดสร้างสรรค์ยังไงก็อยู่รอดในยุคนี้แน่นอน

3. ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ
แน่นอนว่าเราไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีมาทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะงานพวกนี้ต้องใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในการสื่อสาร บุคลากรด้านสุขภาพควรมีความละเอียดอ่อนในการซักถามอาการและอธิบายอาการของผู้ป่วยด้วยความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีหรือหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้ ข้อมูลจากเว็บ Indeed เผยว่าตอนนี้งานพยาบาลที่บ้านยังเป็นงานที่ขาดแคลนบุคลากรมากที่สุด เพราะฉะนั้นหากคุณทำงานพยาบาล ยังไงก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแน่นอน

4. งานด้านการศึกษาและฝึกอบรม
แม้ปัจจุบันจะมีการนำเทคโนโลยีช่วยสอนเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนตามโรงเรียน แต่อาชีพนี้ยังต้องการความละเอียดอ่อนในการอธิบายบทเรียนยากๆ และกระตือรือร้นที่จะดูแลเอาใจใส่นักเรียนในเรื่องอื่นๆ การมีครูที่นักเรียนสามารถซักถามข้อสงสัยต่อหน้าย่อมดีกว่าเรียนผ่านจอหรือผ่านหุ่นยนต์แน่นอน จากข้อมูลเว็บ Indeed ตำแหน่งงานด้านการสอนว่างเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

5. ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
บุคลากรด้านไซเบอร์ในปัจจุบันมีจำนวนเยอะพอสมควรแต่กลับยังขาดแคลนเนื่องจากความต้องการในตลาดก็เยอะตามไปด้วย อาชีพนี้ต้องใช้ความรอบคอบเพื่อตรวจสอบช่องโหว่ของระบบ หากผิดพลาดอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ระดับประเทศหรือระดับโลกเลยทีเดียว บนเว็บไซต์ Indeed จำนวนโพสต์รับสมัครบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 18% เพราะฉะนั้นหุ่นยนต์จึงไม่น่าจะมาแทนที่มนุษย์ในงานประเภทนี้ได้ในเร็วๆ นี้

6. ทรัพยากรบุคคล
เทคโนโลยีที่ใช้สืบประวัติผู้สมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ตอาจช่วยลดภาระงานทรัพยากรบุคคลได้มาก แต่แน่นอนว่าการเฟ้นหาบุคลากรเข้ามาทำงานในองค์กรหรือบริษัทต้องใช้ความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น HR ต้องคัดคนเข้าทำงานโดยอาศัยการสัมภาษณ์พูดคุยเพื่อคัดกรองผู้สมัครที่มีความพร้อมทางวุฒิภาวะ และอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ยังฝึกไม่ได้ในอนาคตอันใกล้

7. งานเดลิเวอรี่และการจัดการโลจิสติกส์
แม้ช่วงปีที่ผ่านมามีการเสนอให้ใช้โดรนส่งของและจัดส่งพัสดุ แต่โดรนและเทคโนโลยีการขนส่งก็ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการกำกับดูแลจัดการอยู่ดี นอกจากนี้การใช้โดรนส่งของยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องประเมินให้ดี เช่น มลภาวะทางเสียง การจราจรบนน่านฟ้าที่หนาแน่น และความปลอดภัยของโครงสร้างโดรน เพราะฉะนั้นอาชีพเดลิเวอรี่จึงยังจำเป็นอยู่มากในปัจจุบัน จากข้อมูลของเว็บ Indeed ประกาศรับสมัครหาคนขับรถส่งของมักจะว่างบนเว็บนานถึง 60 วันหรือเกินกว่านั้น

8. นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต้องวิเคราะห์หารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ การพัฒนาสินค้า บริการ รวมทั้งทำนายผลประกอบการ อาจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการออกแบบอัลกอริทึมและเขียนโค้ด แต่นอกเหนือจากนั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องประยุกต์ความเชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์และทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อเลือกใช้ข้อมูลอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อพัฒนาองค์กรต่อไป

9. พนักงานพาร์ทไทม์และฟรีแลนซ์
การทำงานแบบระยะสั้น เช่น คนขับรถ Grab งานฟรีแลนซ์ หรือ งานบนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เอนเอียงไปทางงานอิสระที่สามารถจัดสรรเวลาของตัวเองได้ โดยต้องอาศัยความยืดหยุ่นและอิสระในการทำงาน ซึ่งเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ไม่มี

………………………………

อย่างไรก็ตาม แม้ทักษะอาชีพบางอย่าง “หุ่นยนต์” จะมีขีดความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ทักษะและประสบการณ์หลายอย่าง “มนุษย์” ยังเป็นผู้ควบคุมดูแลหุ่นยนต์ให้ทำงานตามความต้องการได้ เพราะฉะนั้นคนที่ต้องการจะประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคตจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะความรู้และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีให้ผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

……………………………..

วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
มีครบทุกสาขาอาชีพที่พร้อมพัฒนาสู่มืออาชีพ
www.cls.ssru.ac.th

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *