บริติช เคานซิล เปิดภารกิจปี 64 เร่งยกระดับภาษาอังกฤษ – อัพดีกรีอุดมศึกษา – ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พร้อมเปิดแคมเปญระดับโลก ดึงคนรุ่นใหม่แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

บริติช เคานซิล พร้อมเดินหน้าภารกิจปี 2564 ผสานความร่วมมือสหราชอาณาจักรเดินหน้าภารกิจส่งเสริมการศึกษาไทย ใน 3 ด้าน ได้แก่ ยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ พัฒนาอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านไฮไลท์กิจกรรม อาทิ การเปิดตัวรูปแบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบใหม่ หรือ บูสต์ (Boost), แผนการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับครูภาษาอังกฤษ, โปรเจกต์ร่วมกับกระทรวงอุดมศึกษาฯ ในการยกระดับมหาวิทยาลัย, การสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร, โปรเจกต์พัฒนาพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในย่านนางเลิ้งด้วยความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงไฮไลท์แคมเปญ “The Climate Connection” ที่บริติช เคานซิลทั่วโลกเดินหน้าส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผ่านงานด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ โดยสามารถพบกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปี 2564 อาทิ พอดคาสต์สอนภาษาอังกฤษ นิทรรศการโชว์เคสงานวิทยาศาสตร์และศิลปะ เวิร์คช็อปและสัมมนาจากสปีคเกอร์ระดับโลก เป็นต้น

นางเฮลก้า สเตลมาเกอร์ ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า บริติช เคานซิล องค์กรนานาชาติเพื่อส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งสหราชอาณาจักร เดินหน้าสานความร่วมมือไทย – สหราชอาณาจักร ผ่านการทำงานใน 3 ด้าน ได้แก่ ยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ พัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล และการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การยกระดับทักษะภาษาอังกฤษ บริติช เคานซิล เดินหน้ายกระดับทักษะภาษาอังกฤษแบบครบวงจร ผ่านการเรียน การสอบ และการจัดสอบด้วยมาตรฐานระดับนานาชาติ รวมไปถึงภารกิจในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยภาพรวมของประเทศผ่านการทำงานร่วมกันกับภาครัฐ จากข้อมูลล่าสุดของหน่วยงานด้านการวัดและประเมินผลด้านภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge Assessment English) พบว่า ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยที่ได้ทำการสอบวัดความสามารถภาษาอังกฤษ IELTS ในปี 2562 คะแนนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 9 โดยทักษะที่คนไทยทำคะแนนได้มากที่สุดคือ ทักษะการฟัง เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4 คะแนน ในขณะที่ทักษะที่ไม่ถนัดที่สุดคือทักษะการเขียน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5 คะแนน

ในปี 2564/65 นี้ บริติช เคานซิล พร้อมเดินหน้าสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการในแผนการพัฒนาทักษะครูภาษาอังกฤษทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่ทักษะความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นผลสืบทอดต่าง ๆ จากโครงการบูธแคมป์ ที่ได้ฝึกอบรมทักษะการสอนภาษาอังกฤษกับครูทั่วประเทศกว่า 12,000 คน เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนผ่านรูปแบบออนไลน์ที่ครูทั่วโลกต่างเผชิญอยู่ ในส่วนของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ บริติช เคานซิล ได้นำเสนอการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ “บูสต์” (Boost) หรือการเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียนในห้องเรียนโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาทีในการเรียนรู้และฝึกคำศัพท์ล่วงหน้าเพื่อเสริมความมั่นใจการเรียน โดยปัจจุบัน บูสต์ ได้ถูกประยุกต์ใช้กับคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับผู้ใหญ่ อย่าง myClass และ IELTS Coach และกำลังจะถูกประยุกต์ใช้กับคอร์สภาษาอังกฤษสำหรับเด็กประถมและมัธยม หรือ Primary Plus และ Secondary Plus ในปีการศึกษาที่กำลังจะถึงนี้ 

นอกจากนี้ บริติช เคานซิล ยังคงให้บริการการสอบ IELTS และการสอบเฉพาะทางอื่น ๆ อาทิ IGSCSE, BMAT, Aptis โดยเราจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สอบเป็นหลัก และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้เข้าสอบ ในปีนี้ บริติช เคานซิลได้เตรียมพร้อมแผนการขยายศูนย์สอบเพิ่มเติม เพื่อเตรียมรองรับจำนวนผู้สอบที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงหลังการแพร่กระจายของโควิด-19 โดยจะเป็นทั้งรูปแบบศูนย์สอบร่วมกับหน่วยงานพาร์ทเนอร์ อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่ปรึกษาการศึกษาต่อ และในรูปแบบศูนย์สอบอย่างเป็นทางการของบริติช เคานซิลเอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สอบในหลากหลายพื้นที่

การพัฒนาอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นสากล บริติช เคานซิล เดินหน้าส่งเสริมโอกาสในการศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักรให้กับนักเรียนไทย และการสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนไทยที่เลือกไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาที่สหราชอาณาจักรมากกว่า 40,665 ราย และจากข้อมูลล่าสุด ในปี 2562-2563 มีนักเรียนไทยจำนวนกว่า 7,140 คนไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา ณ สหราชอาณาจักร โดย 5 อันดับสาขาวิชาที่คนไทยเลือกศึกษาต่อมากที่สุดได้แก่ สาขาการจัดการธุรกิจ 39% สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี 12% สาขาสังคมศึกษา 7% สาขากฎหมาย 7% และสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และการออกแบบ 5% ซึ่งทางสหราชอาณาจักรได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติอยู่ที่ขั้นต่ำ 600,000 คนต่อปีภายในปี 2573 โดย บริติช เคานซิลจะรับบทบาทในการส่งเสริมการศึกษาต่อ ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มเครือข่ายศิษย์เก่าสหราชอาณาจักร ที่มีกำหนดการจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2565 และกิจกรรมรางวัลศิษย์เก่า สหราชอาณาจักรดีเด่น (The Study UK Alumni Award) ที่จะเริ่มเปิดรับสมัครในช่วงเดือนกันยายน 2564 นี้

ในขณะเดียวกัน บริติช เคานซิลได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมไปสู่มาตรฐานระดับสากล ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา และพัฒนาบุคลากรในแวดวงงานวิจัยและนวัตกรรม โดยในปีนี้ได้เริ่มต้น “โครงการความร่วมมือระดับอุดมศึกษาระหว่างประเทศไทยและสหราช-อาณาจักร” (Thai-UK World-class University Consortium) ทำการเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยไทยเข้ากับมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษาและบุคลากร อันจะนำไปสู่การผลักดันมหาวิทยาลัยไทยให้ก้าวไปสู่ 100 อันดับแรกของโลกตามที่กระทรวง อว. ได้ตั้งเป้าหมายไว้ นอกจากนี้อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่บริติช เคานซิล ยังคงสานต่อในการทำงานกับกระทรวง อว. คือ โครงการ “เฟมแล็บ ไทยแลนด์ 2021” เวทีค้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายหัวข้องานวิจัย หรือเรื่องราววิทยาศาสตร์ได้ใน 3 นาที โดยนอกจากเฟมแล็บจะเป็นตัวกระตุ้นให้คนทั่วไปหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำให้นักวิจัยและบุคลากรในแวดวงวิทยาศาสตร์หันมาสนใจพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อสามารถส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ ให้คนทั่วไปได้เข้าใจอีกด้วย

การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภารกิจของบริติช เคานซิล ในการสนับสนุนด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างของทั้ง 2 ประเทศโดยการแลกเปลี่ยน และการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรในแวดวงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งานคราฟท์ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร กลุ่มนักออกแบบชาวไทย และชาวบ้าน ช่างฝีมือ กว่า 3,000 คน และกว่า 200 แบรนด์ โดยสำหรับในปี 2564/65 นี้ บริติช เคานซิล เดินหน้าโปรเจกต์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาธุรกิจในวงการคราฟท์ ด้วยการเพิ่มบทเรียนในดิจิทัลคราฟท์ ทูลคิท (Digital craft toolkit) แพลตฟอร์มบทเรียนทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการงานคราฟท์ที่ถูกใช้ในอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้จะมีการเพิ่มบทเรียนที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ ทั้งในด้านการวางโมเดลธุรกิจ การเลือกวัสดุ และขั้นตอนการผลิตอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือให้ศิลปินได้เรียนรู้โมเดลการสร้างธุรกิจงานคราฟท์อย่างครบวงจร และเพื่อให้ศิลปินได้พัฒนาธุรกิจของตัวเองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในปี 2564/65 ยังมีอีก 2 โปรเจกต์ที่ได้รับการต่อยอดการกิจกรรมแฮกกาธอนในย่านนางเลิ้ง ที่ระดมบุคลากรในศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งทั้ง 2 โปรเจกต์จะเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในชุมชน ทั้งขยะพลาสติกและขยะสดจากตลาด และพัฒนาพื้นที่ในชุมชนให้มีความน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจาก 3 ภารกิจหลักที่กล่าวมาข้างต้น ในปีนี้ บริติช เคานซิล ได้จัดแคมเปญระดับโลก “The Climate Connection” ร่วมมือกับหน่วยงานพาร์ทเนอร์ทั่วโลกสร้างความตระหนักในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เริ่มต้นลงมือทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสภาวะ Climate change ผ่านการดำเนินงานด้านการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ ในรูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เช่น พอดคาสต์สอนภาษาอังกฤษและสัมมนาการสอนภาษาอังกฤษภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ นิทรรศการโชว์เคสงานวิทยาศาสตร์และศิลปะเพื่อการความยั่งยืน ที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งปีเพื่อปูทางไปสู่กิจกรรมยิ่งใหญ่ประจำปีของสหราชอาณาจักรอย่าง การประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่จะจัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ นางเฮลก้า กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหว และกิจกรรมต่าง ๆ ของบริติช เคานซิล ได้ที่เว็บไซต์ www.britishcouncil.or.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ British Council Thailand

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *