สพฐ.แจง เงินเยียวยา 2,000 บาท ยังไม่ถึงโรงเรียน

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายอัมพร พินะสา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมาตรการลดภาระทางการศึกษาให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง ด้วยการจ่ายเงินเยียวยานักเรียนคนละ 2,000 บาทนั้น

ตนขอชี้แจงทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงิน 2,000 บาท จะจ่ายตามจำนวนนักเรียน เช่น หากผู้ปกครองมีบุตรหลานเรียนอยู่ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน (อนุบาล-ม.6) จำนวน 1 คน ก็จะได้รับเงินเยียวยา 2,000 บาท แต่หากมีบุตรหลานเรียนอยู่ จำนวน 3 คน ก็จะได้รับเงินรวม 6,000 บาท โดยคนที่จะรับเงินเยียวยา คือ ผู้ปกครอง หากนักเรียนอยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครองก็คือพ่อแม่ แต่หากนักเรียนอยู่กับญาติ ผู้ปกครองก็คือญาติที่นักเรียนอาศัยอยู่ด้วย

ซึ่งครูประจำชั้นต้องรู้ข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากเด็กอยู่กับมูลนิธิหรืออยู่บ้านพักเด็ก ทางโรงเรียนก็สามารถจ่ายเงินเยียวยาให้กับนักเรียนโดยตรงได้ โดยระบุว่าเด็กคนนี้อยู่บ้านพักเด็กที่ไหนหรืออยู่กับมูลนิธิอะไร เพื่อเป็นการยืนยันว่าเด็กอยู่กับใครและเงินถึงมือเด็กหรือไม่

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า สำหรับนักเรียนที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนที่ได้ลงข้อมูลไว้ ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เมื่อมีรายชื่อเป็นนักเรียนอยู่ที่ไหน สพฐ. ก็จะจัดสรรเงินไปตามรายชื่อของนักเรียนที่อยู่ในโรงเรียนนั้น โดยโรงเรียนจะจ่ายเงินให้เฉพาะนักเรียนที่มีตัวตนจริง

ส่วนนักเรียนที่ไม่มีชื่อในทะเบียนในวันที่ 25 มิ.ย. แต่มาเรียนเพิ่มเติมในโรงเรียนนั้น นักเรียนจะยังมีชื่ออยู่ที่โรงเรียนเดิม ทางโรงเรียนใหม่ก็ต้องเพิ่มชื่อนักเรียนเข้าไป แล้วรายงานไปยังสำนักงานเขตฯ ในส่วนนี้ทางโรงเรียนยังไม่สามารถจ่ายเงินได้ จนกว่าสำนักงานเขตฯ จะเคลียร์ข้อมูลให้เรียบร้อยจึงจะอนุมัติการจ่ายเงินได้

โดยสรุปคือ ทุกโรงเรียนต้องสำรวจรายชื่อนักเรียนของตนเอง ว่ายังมีชื่ออยู่ในโรงเรียนครบถ้วนหรือไม่ และยังมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หากมีครบไม่ได้ย้ายออกไปไหนถือว่าจบไม่มีปัญหา แต่หากมีย้ายออกไปก็ให้โรงเรียนกรอกข้อมูลเข้ามาว่าเด็กย้ายไปอยู่ที่ไหน หรือหากมีเด็กย้ายเข้ามาก็ให้กรอกข้อมูลว่ารับย้ายมาจากที่ไหนด้วย

“ขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการเตรียมการ เมื่อเงินลงมาถึงโรงเรียนแล้วเราอยากให้เงินถึงผู้ปกครองภายใน 3 วัน โดยให้โรงเรียนถือปฏิบัติตามแนวทางในหนังสือฉบับใหม่ที่ได้ส่งไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้แจ้งว่าในส่วนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาต้องเปิดบัญชีใหม่เพื่อรองรับ ส่วนโรงเรียนจะมีการซักซ้อมวิธีปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจตรงกันอีกครั้งหนึ่ง แต่สิ่งที่เราห่วงมากที่สุดก็คือฐานข้อมูลของนักเรียน และการเตรียมการวิธีจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองนักเรียน โดยจะมีแนวปฏิบัติแจ้งออกไปให้ทราบอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้

พร้อมกับเน้นย้ำว่าเมื่อ สพฐ. ได้รับเงินจัดสรรเมื่อใดก็จะโอนเงินไปยังบัญชีของสำนักงานเขตฯ ภายในวันเดียวกันนั้น และให้เขตฯ โอนต่อไปยังโรงเรียนภายใน 3 วัน เมื่อถึงบัญชีโรงเรียนแล้ว ขอให้โรงเรียนโอนเงินหรือจ่ายเงินถึงมือผู้ปกครองภายใน 3 วันเช่นเดียวกัน โดยรวมแล้วทั้งกระบวนการขอให้จบภายใน 7 วัน” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจ่ายเงินนั้น เราได้กำหนดแนวทางไว้ 2 ประเด็น คือ หากผู้ปกครองมีบัญชีธนาคารก็สามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้ปกครองได้โดยตรง แต่หากใช้วิธีโอนเงินไม่ได้ จะให้โรงเรียนบริหารจัดการผ่านครูประจำชั้น ในการออกแบบการจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครอง เช่น นัดหมายผู้ปกครองเข้ามารับเงินสดที่โรงเรียน แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคของ ศบค. โดยให้ผู้ปกครองลงลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานในการจ่ายเงิน

ทั้งนี้ ขอให้ทางโรงเรียนสื่อสารกับผู้ปกครองให้เข้าใจตรงกันว่า ในขณะนี้ สพฐ. ยังไม่ได้รับเงินจัดสรรจากกระทรวงการคลังมาถึงกระทรวงศึกษาธิการ จึงยังไม่มีเงินลงไปถึงโรงเรียน ซึ่งเมื่อใดที่เงินลงไปถึงโรงเรียนแล้ว ก็จะดำเนินการจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองภายใน 3 วัน

“ทั้งนี้ นักเรียนและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน สังกัด สพฐ. สามารถตรวจสอบสถานะการมีสิทธิ์ตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา (COVID-19) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ได้แล้วที่เว็บไซต์ https://student.edudev.in.th

โดยจะต้องมีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนและเลขประจำตัวนักเรียน ที่โรงเรียนรายงานเข้ามาในระบบและยืนยันข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย. 2564 (กรณีที่มีการย้ายสถานศึกษาหลังวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ให้ใช้เลขประจำตัวของโรงเรียนเดิมจึงจะพบสิทธิ์ และนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์หรือเกินเกณฑ์ จะยังไม่ได้รับสิทธิ์ในรอบนี้)” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-https://www.facebook.com/AtHearNews/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *