คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดตัว ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง และเว็บไซต์ UrbanAlly.org มุ่งขับเคลื่อนเมืองแบบพลิกโฉมร่วมกับเครือข่าย ‘มิตรเมือง’

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดกิจกรรมออนไลน์เปิดตัวศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (ASEAN Connection Centre for Urban Design and Creativity) และเว็บไซต์ urbanally.org ที่มุ่งขับเคลื่อนเมืองผ่านมุมมองและระบบการทำงานแบบใหม่

ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง (ASEAN Connection Centre for Urban Design and Creativity) แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นหนึ่งในโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ภายใต้หมวดโครงการยกระดับมหาวิทยาลัยศิลปากรสู่อันดับโลกด้านศิลปะและการออกแบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงมือสร้างระบบนิเวศใหม่ให้กับการศึกษาเมือง ผลักดันความคิดมาสู่ปฏิบัติการในพื้นที่จริง เพื่อส่งผลให้เกิดผลกระทบอันยิ่งใหญ่ และสรรค์สร้างประสบการณ์ ความร่วมมือสู่ระดับอาเซียนและสากล โดยโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง มุ่งเชื่อมโยงกับภาคสาธารณะด้วยแพลตฟอร์ม Urban Ally (เออเบิ้น อัลไล) บนเว็บไซต์ UrbanAlly.org ที่จะเป็น “พื้นที่เครือข่ายของการคิดและทำ” ที่ต้องการสร้างกระบวนการเรียนรู้เมืองแบบใหม่ร่วมกับผู้คนและถิ่นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิต ชักชวนให้เกิดประเด็นการศึกษาใหม่ วิพากษ์และรังสรรค์เมือง รวมถึงแปลงเมืองให้เกิดขึ้นจริง โดยเน้นที่การเชื่อมโยงระหว่างนักวิชากร ผู้คนและชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ใส่ใจและเป็นมิตรแห่งเมือง Urban Ally แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่

  1. Lively labs มุ่งศึกษาเมืองใน 5 มิติ ได้แก่ ศิลปะและวัฒนธรรม (Art and culture) การคิดเชิงข้อมูล (Data thinking) พลิกโฉมเมือง (City reinventing) การออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable design) และการแปลงเมือง (Make it happen)
  2. Open data มุ่งสร้างฐานความรู้และความคิดอันท้าทายว่าถิ่นที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตของเรานั้นสามารถจะดีขึ้นได้อย่างไร และจัดทำข้อมูลเปิด ข้อความ สถิติ แผนที่ ตำแหน่ง ภาพ แผนผัง เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลเปิดทั่วโลกกว่า 300 แหล่ง
  3. Local actions เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตเมืองด้วยการลงมือทำ ร่วมมือกับมิตรแห่งเมืองหลากหลายกลุ่มเปิดรับข้อเสนอและแนวคิดใหม่จากคนทุกกลุ่มผู้ใส่ใจเมือง และร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
  4. Collaboration มุ่งค้นหามิตรแห่งเมืองในพื้นที่ ชุมชน สังคมไทย ตลอดจนมิตรในประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรนานาชาติ และสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยน ยกระดับความเข้าใจเมือง และค้นหาทางออกที่ตอบสนองคนทุกกลุ่มในเมืองอย่างเท่าเทียม
  5. Round-Table Conference มุ่งจัดการประชุมทางวิชาการโฉมใหม่ เปิดรับผลงานรูปแบบใหม่ ทั้งบทความ วีดีโอ แอนนิเมชั่น สื่อศิลปะ และอื่นๆ นำเสนอด้วยการเสวนาโต๊ะกลม กันเอง แต่หยั่งลึกในสิ่งสำคัญ

ในงานเปิดยังได้มีสัมมนาในหัวข้อ “นิเวศการเรียนรู้ พลิกโฉมอย่างไร” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นนท์ คุณค้ำชู คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อำนวยการศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนฯ และหัวข้อ “มองเมืองละแวกบ้าน” โดยคณะทำงานของศูนย์เชื่อมโยงอาเซียนด้านการออกแบบเมืองและสรรค์สร้าง ซึ่งได้แก่ อาจารย์ สิริเดช วังกรานต์ กลุ่มวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรม อาจารย์ ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กลุ่มวิจัยด้านการคิดเชิงข้อมูล อาจารย์ สิริพร ด่านสกุล และปิยา ลิ้มปิติ กลุ่มวิจัยด้านพลิกโฉมเมือง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมลศิริ ประจงสาร กลุ่มวิจัยด้านการออกแบบอย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ กลุ่มวิจัยด้านการแปลงเมือง โดยร่วมกันให้มุมมองว่า เมือง กับ บ้าน มักถูกมองว่าเป็นสองคำที่อยู่แยกออกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน ทัศนะเช่นนี้ส่งผลให้การพัฒนาเมืองที่ผ่านมาละเลยความใส่ใจในละแวกบ้าน ซอย และชุมชน ไปกระจุกตัวมุ่งเน้นพัฒนาอยู่ตามรายทางริมถนนกับดักทางความคิดเช่นนี้ ส่งผลให้การพัฒนาเมืองในสังคมไทย จึงไม่เคยประสบความสำเร็จเพราะเราขาดการทำความเข้าใจวิถีการอยู่อาศัยในแบบของเราไม่ได้มองมิติชุมชนในเมือง ละเลยการมองภาพเล็กๆ ในละแวกบ้านที่รายล้อมและหล่อหลอมจนกลายเป็นเมืองให้กับเรา แต่สถานการณ์ในวันนี้ก่อให้เกิดการตื่นรู้ ในวันที่เราทุกคนใช้ชีวิตอยู่ใน “บ้าน” มากกว่าในเมือง เริ่มเห็นความสำคัญของละแวกบ้าน เริ่มเห็นปัญหาที่ไม่เอื้อให้เราใช้ชีวิตได้อย่างที่ปรารถนา เราเริ่มตระหนักและเรียกร้องให้มีละแวกบ้านที่ดีมากกว่าครั้งใดๆ ในประวัติศาสตร์การพัฒนาเมือง เพื่อให้เราอยู่อาศัย ทำงาน หาอาหาร พักผ่อน มีอากาศและสภาวะแวดล้อมที่ดีตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจให้แก่เราได้ เราเริ่มมองเห็นความเป็นเมืองจากละแวกบ้าน และเริ่มตั้งคำถามถึงการเติมเต็มละแวกบ้านเพื่อรังสรรค์เมืองให้ดี

และงานนี้ปิดท้ายด้วยการเปิดรับข้อเสนอจากมิตรเมืองในการขับเคลื่อนสังคมเมือง พื้นที่เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งผู้เข้าร่วมงานสามารถนำเสนอข้อคิดเห็นหรือมุมมองได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทางโครงการนำไปใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินงานต่อไป

นอกจากกิจกรรมในงานแล้ว Urban Ally ยังมีกิจกรรม Call for Collaboration เชิญชวนผู้ที่สนใจส่งข้อความเสนอโครงการ ภายใต้หัวข้อสรรค์สร้างพื้นที่แยกส่วนของเมือง “Refabricate the urban fragments” ในกิจกรรม 2 ประเภทหลัก ได้แก่ Re-frontage Shophouse Design Initiatives มุ่งหาแนวความคิดและกระบวนการใหม่ในการเปลี่ยนตึกแถวในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ และ Old-town Community Engagement กิจกรรมการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนเมือง โดยมีรางวัลเป็นทุนสำหรับดำเนินโครงการจำนวน 7 ทุน รวมมูลค่ากว่า 450,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 17 กันยายน 2564 โดยดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ urbanally.org และนอกจากโครงการนี้แล้ว Urban Ally จะมีกิจกรรม Local Actions ที่น่าสนใจให้เข้าร่วมตลอดทั้งปี

——————————————————————————————————————

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อคุณชำนาญวิทย์ คำนวนศักดิ์ ผู้ช่วยนักวิจัยและประสานงาน โทร. 098-829 -1300 หรือที่อีเมล contact@urbanally.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *