กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม-มทร.ธัญบุรี ดันกิจกรรม “พัฒนาธุรกิจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร” มูลค่าทะลุ 11.7 ล้านบาท

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี แถลงความสำเร็จ กิจกรรมพัฒนาธุรกิจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในรูปแบบออนไลน์ มีผู้ร่วมโครงการกว่า 200 คน เกิดมูลค่าการซื้อขายกว่า 11.7 ล้านบาท

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ในกิจกรรมพัฒนาธุรกิจบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตร โครงการการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และมีผู้ประกอบการหลักด้านอุตสาหกรรมการเกษตรที่ผ่านคัดเลือกกว่า 40 ท่าน รวมถึงมีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการเกษตรในเครือข่ายกว่า 160 ท่านเข้าร่วม จนสามารถเกิดเป็นเครือข่ายได้อย่างสมบูรณ์แบบ


“กิจกรรมหลักที่เราได้ดำเนินการก็คือการสนับสนุนให้เกิดการจับคู่ธุรกิจการค้า การทำแผนกลยุทธ์ การวิเคราะห์และวางระบบฐานข้อมูล รวมถึงการออกแบบช่องทางการบริการในรูปแบบเว็บไซต์ เพื่อการค้นหาและการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และจัดทำข้อมูลเชิงวิชาการด้านเทคนิค ตลอดจนการให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะ ซึ่งมี มทร.ธัญบุรี ร่วมแสดงบทบาทในการบริการวิชาการและความรู้จากคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะช่วยอัพสกิล และรีสกิลให้กับผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างครบวงจร ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการ” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว

ด้าน ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ทาง กสอ. ได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วนด้วยกัน ทั้งจากผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการเกษตร และสมาชิกผู้ประกอบการเกษตรในเครือข่าย รวมถึงคณะกรรมการดำเนินงานจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือที่ดียิ่งจากคณะกรรมการดำเนินงานของ มทร.ธัญบุรี ที่มีความพร้อมด้านนวัตกรรม ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีที่มาช่วยเติมเต็มให้เครือข่ายมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาในรูปแบบของแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางในการสนับสนุน ส่งเสริมภาคการเกษตร อุตสาหกรรมให้มีศักยภาพทางธุรกิจ สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจการเกษตร และปีปัจจุบันมีจำนวนการสั่งซื้อขายมากว่า 400 ครั้ง เกิดมูลค่าการซื้อขายกว่า 11.7 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางการผลิตได้มากกว่า 6 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการเชื่อมโยงเป็นมูลค่า 13.3 ล้านบาท บนพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,200 ไร่ ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 31 ล้านบาท ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย

ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้อำนวยการกองกลาง มทร.ธัญบุรี ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวเสริมว่า
จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการและผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้คัดเลือกตามวัตถุประสงค์โครงการฯ จนได้ผู้เข้าร่วมในปี 2564 นี้ กว่า 40 ราย ทำให้เกิดผู้ให้บริการบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ IAID Application จำนวน 104 ราย โดยมีสินค้าและบริการ มากกว่า 400 รายการ ขณะเดียวกัน ยังจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายและบูรณาการพันธมิตรทางธุรกิจ ควบคู่กับการให้ความรู้ ทั้งเรื่องการตลาด การสร้างแบรนด์บนโลกออนไลน์ เป็นต้น รวมถึงจัดกิจกรรมเชื่อมโยงเกษตรกรในพื้นที่กับผู้ให้บริการ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และหญ้าเนเปีย จำนวนกว่า 160 ราย ผู้สนใจข้อมูลบริการเครื่องจักรและเทคโนโลยีทางการเกษตร สามารถดาวน์โหลด IAID Application ทั้งในระบบ Android และ iOS และสามารถติดตามข่าวสาร กิจกรรม ความรู้ด้านการเกษตร ได้ที่ www.iaid.in.th และ https://www.facebook.com/SmartIAIDPlatform.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *