“ก้านกล้วยกันกระแทก” นวัตกรรมรักษ์โลก ลดการใช้พลาสติก ผลงานนักวิจัยสวนสุนันทา คว้าอีกรางวัลเหรียญทองเวทีนานาชาติ จากประเทศเกาหลีใต้

อาจารย์ปิยะอร ศรีวรรณ สาขาวิชาธุรกิจพาณิชยนาวี วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้ารางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากผลงานวิจัยนวัตกรรมใหม่วัสดุกันกระแทกทางชีวภาพ (Bio-cushioning Material from Banana Trunk” “ก้านกล้วยกันกระแทก” เวทีนานาชาติ ในงาน Korea International Women’s Invention Exposition รูปแบบออนไลน์ ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ด้วยการนำเสนอผลงานผ่านระบบออนไลน์

อาจารย์ปิยะอร กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นการจัดทำผลงานชิ้นนี้เกิดจากนักวิจัยต้องการลดการใช้พลาสติกในงานด้านการขนส่งสินค้าที่มีมากในปัจจุบัน เพราะมีการจัดส่งสินค้าจากการสั่งของออนไลน์ในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญในการจัดส่งประกอบไปด้วยกล่องพัสดุ กันกระแทกที่ทำจากโฟม หรือพลาสติก เชือก และเทปกาว ซึ่งเมื่อสินค้าถึงมือลูกค้าแล้ว ทั้งหมดก็จะกลายเป็นขยะ นักวิจัยเห็นความสำคัญและต้องการลดจำนวนขยะในส่วนนี้”

อาจารย์ปิยะอร กล่าวอีกว่า “ “ดังนั้นผู้จัดทำจึงตั้งโจทย์เพื่อการลดขยะจากการขนส่งสินค้า ทำการศึกษาพืชที่มีลักษณะทางกายภาพเหมาะสมที่จะทำหน้าที่กันกระแทกให้กับสินค้า คือ มีน้ำหนักเบา ราคาถูก หาง่ายในประเทศ และนั่นคือก้านกล้วย เพราะเป็นสิ่งที่เหลือใช้จากการเกษตรและหาได้ง่ายในประเทศไทย โดยนักวิจัยนำมาเข้ากระบวนการอบ เพื่อให้น้ำและความชื้นไม่เหลืออยู่ในก้านกล้วย ด้วยอุณหภูมิ เวลาและความดันที่เหมาะสม ก็จะได้ก้านกล้วยที่แห้งสนิทแต่ยังคงสภาพรูปร่างเป็นทรงของก้านกล้วย”

“นอกจากนี้ นักวิจัยได้ทำการถ่ายภาพด้วยกล้อง scanning electron microscope (SEM) เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างภายในหลังอบเสร็จ สรุปได้ว่าก้านกล้วยกันกระแทกเหมาะสมที่จะเป็นกันกระแทกได้อย่างดี และที่สำคัญที่สุดคือ กันกระแทกจากก้านกล้วยสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ 100% ” อาจารย์ปิยะอร กล่าว

อรวรรณ สุขมา : รายงาน
www.ssru.ac.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *