“แขนกลรดน้ำแปลงผัก” : งานดีพี่ ป.ตรี เพื่อน้อง ป.5
นักศึกษาวิศวะ ปี 4 มจธ. สร้างอุปกรณ์รดน้ำแปลงผัก เพื่อเป็น “กิจกรรมของจริง” สำหรับการสอนภาคปฏิบัติในสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ระดับ ป.5 ของโรงเรียนประถมชายขอบ จังหวัดราชบุรี ที่นอกจากทำให้เด็กเกิดการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตที่เป็นวิถีชีวิตของเขาแล้ว ยังเป็นงานสร้างวิศวกรที่มองถึงการแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานมากกว่าการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมอีกด้วย “ออกแบบและเขียนโปรแกรมที่การใช้เหตุผลเชิงตรรกะอย่างง่าย” คือหนึ่งในตัวชี้วัดของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ของนักเรียนป.5 โดยในหลักสูตรจะกำหนดให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติด้วยการหัดเขียนชุดคำสั่ง (Code) ง่ายๆ ในรูปแบบของบล็อกคำสั่ง ทำให้เกิดตัวการ์ตูนบนบนจอคอมพิวเตอร์ เคลื่อนที่ตาม “ชุดคำสั่ง” ที่เด็กเขียน ซึ่งสำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในเมืองจะสามารถเรียนรู้และเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับเด็กที่อยู่นอกเมืองหรืออยู่ในชนบท ที่วิถีชีวิตไม่ค่อยข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีมากนัก หากสามารถเปลี่ยนจากการควบคุมตัวการ์ตูนบนหน้าจอสี่เหลี่ยม ออกมาสู่การควบคุมของที่จับต้องได้ คุ้นเคย และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของเขา…