“Robotics for All”: Possible Mission ของฟีโบ้

ยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและนับวันยิ่งมีบทบาทกับวิถีชีวิตของคนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ชีวิตของคนดีขึ้น ทำงานง่ายและสะดวกขึ้น ที่สำคัญเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้เป็นฐานใน
การขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ แต่สำหรับประเทศไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น จำเป็นต้องเร่งผลักดันการพัฒนาคนให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะด้าน AI และวิทยาการหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น

โครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน และพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics for All) เป็น 1 ใน 5 โครงการภายใต้ชุดโครงการ AI/Robotics for All ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถในด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และ AI เพื่อขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ดำเนินการโดยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ล่าสุด โครงการในปีที่ 1 (ระยะที่ 1) ตั้งแต่
เดือนพฤษภาคม 2563 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 และเริ่มดำเนินโครงการต่อเป็นปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 นี้เป็นต้นไป

รศ. ดร.สยาม เจริญเสียง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวว่า “A cradle of future leaders in robotics” คือ สโลแกนของ พีโบ้ ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นสถาบันที่เปิดสอนทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกเป็นแห่งแรกของประเทศ จึงมุ่งเน้นพัฒนาคนในทุกระดับตั้งแต่ประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักวิจัย developers หรือนักพัฒนา นวัตกร ไปจนถึงผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว ทั้งผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup โดยการประยุกต์ AI เข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการ ผ่านการค้นคว้าวิจัย และนำทักษะไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับองค์กรและประเทศ

การดำเนินงานโครงการส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน และพัฒนานวัตกร/นักวิจัย/วิศวกร/วิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ หรือ Robotics for All นั้น แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 การส่งเสริมวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน มี 4 โครงการย่อย และกิจกรรมที่ 2 การพัฒนานวัตกรนักวิจัยวิศวกรวิสาหกิจเริ่มต้นด้านวิทยาการหุ่นยนต์ มี 1 โครงการย่อย ซึ่งมีผลการดำเนินงานเกิดขึ้นในปีแรกหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น Advanced Learning Lab / Resource Sharing, System Integration Demonstration และPremium Training

“ตัวอย่างของ Advanced Learning Lab / Resource Sharing โครงการนี้เราได้สร้างและพัฒนาระบบการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับการพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ (Tele 3D Printing) 1 ระบบ ประกอบด้วย ชุดควบคุม 20 ชุด เว็บไซต์สำหรับเชื่อมต่อกับระบบควบคุมระยะไกล พร้อมจัดทำคู่มือการใช้งานออนไลน์ เพื่อให้ครูและเด็กนักเรียนของโรงเรียนในพื้นที่เดียวกันสามารถใช้เครื่องนี้ได้ผ่านระบบออนไลน์ที่เราพัฒนาขึ้น จุดเด่นคือ เด็กสามารถเห็นชิ้นงานขณะพิมพ์งานผ่านระบบออนไลน์ ครูสามารถล็อกอิน และจัดการระบบเองได้ โดยในปีแรกได้มีการติดตั้งระบบชุดควบคุมเครื่องพิมพ์สามมิติระยะไกลให้กับโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จำนวน 20 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียน 16 แห่ง และวิทยาลัย 4 แห่งทั่วประเทศ (ภาคกลาง 9 แห่ง, ภาคเหนือ 3 แห่ง, ภาคอีสาน 12 แห่ง, ภาคตะวันออก 2 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง) ซึ่งจากการพัฒนาระบบดังกล่าวจึงมีแนวคิดให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้นักเรียนได้เข้าถึงเทคโนโลยีด้านวิทยาการหุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้นแม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลผ่านการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือ Resource Sharing ซึ่งจะดำเนินการในปีถัดไป

ส่วน System Integration Demonstration ฟีโบ้ได้จัดทำหุ่นยนต์สาธิต (Affordable Platform) 3 ชุด ประกอบด้วย หุ่นยนต์บริการ หุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับโลจิสติกส์ฯ และระบบหุ่นยนต์ควบคุมการลงนามเอกสารจากระยะไกลเพื่อนำไปใช้ในพิธีลงนามโรงเรียนเครือข่าย FIBO-School Consortium เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม สู่การนำไปใช้จริงเชิงพาณิชย์ และเพื่อให้เกิดการพัฒนา Affordable Platform ขึ้นภายในประเทศ ทำให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนถูกลงเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้ในระดับ นานาชาติ สำหรับ Premium Training นั้นทำให้เกิดเครือข่ายการพัฒนาด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
FIBO-School Consortium กับโรงเรียนมัธยมกว่า 56 แห่ง เพื่อจัดทำหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงเรียนระดับมัธยม และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการทำโจทย์จริงในอุตสาหกรรม (Co-op/WIL) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นต้น ส่วนนักพัฒนาหรือนวัตกรและผู้ที่ทำงานนั้น เรามีการจัดอบรมหลักสูตร Non-degree เรื่อง Robotics และ Industrial Internet of Things: IIoT ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ต่อยอดทักษะเดิม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง สามารถนำความรู้ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในสถานประกอบการของตนเองได้” รศ.ดร.สยาม กล่าว

ในส่วนของการสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้งบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักวิจัย นวัตกร และกลุ่มผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว รศ.ดร.สยาม กล่าวว่า ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในการสร้าง
การรับรู้และความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับ AI และ Robotics ในกลุ่มคนทุกระดับได้มากกว่า 32,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้รวมกัน 7,000 กว่าคน สำหรับการดำเนินงานในปีที่สอง นอกจากกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องจากปีแรก ยังมีเป้าหมายที่จะขยายผลโครงการ Resource Sharing เพิ่มขึ้นอีก 20 โรงเรียน โดยโรงเรียนที่ต้องการเข้าร่วมจะต้องมีคุณสมบัติ คือ จะต้องมีใจแบ่งปันทรัพยากรหรือแชร์ให้คนอื่นได้ใช้ นอกจากนี้มีการจัดทำหลักสูตรและการอบรม เพื่อสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพสูงด้านวิทยาการหุ่นยนต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ โครงการ Robotics for All เป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญภายใต้ชุดโครงการปัญญาประดิษฐ์/วิทยาการหุ่นยนต์สำหรับทุกคน (Artificial Intelligence and Robotics for All) หรือ AI/Robotics for All เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำลังคนด้าน AI และสร้างความตระหนักรู้แก่ทุกคน สร้างนักพัฒนาระบบ AI และ หุ่นยนต์ ป้อนสู่ตลาดแรงงาน และเพื่อสร้างนักวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ส่งเสริมองค์กรนำAI และหุ่นยนต์ไปใช้ในเกิดประโยชน์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *