อยากเรียนคณะเทคนิคการแพทย์ มีกี่สาขา เรียนอะไรบ้าง?

คณะเทคนิคการแพทย์เป็นอีกคณะเมื่อน้อง ๆ เรียนจบมาแล้วสามารถไปต่อได้ในหลาย ๆ สายนอกจากการเป็นนักเทคนิคการแพทย์ น้อง ๆ ที่สนใจจะเข้าเรียนต่อคณะนี้มาดูกันว่าถ้าได้เข้าไปเรียนแล้วจะได้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

คณะเทคนิคการแพทย์ เรียนอะไรบ้าง?

คณะเทคนิคการแพทย์ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี มาดูกันว่าแต่ละปีเรียนอะไรบ้าง

ชั้นปีที่ 1 เรียนพื้นฐาน

  • ในชั้นปีนี้จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปเช่น แคลคูลัส เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา สังคมศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ในด้านภาษาและการสื่อสาร เน้นการ ฟัง พูด อ่าน เขียนและศึกษาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป

ชั้นปีที่ 2 เรียนเฉพาะทาง

  • จะได้เรียนในหมวดวิชาเฉพาะทางเป็นพื้นฐานวิชาชีพ เช่น พยาธิวิทยา โลหิตวิทยา จุลชีววิทยาเบื้องต้น

ชั้นปีที่ 3 เรียนลึกทางด้านวิชาชีพ

  • จะได้เรียนลึกทางด้านวิชาชีพและเรียนในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เรียนในหมวดวิชาเฉพาะในด้านทฤษฎี และฝึกปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการ เราจะได้ฝึกเทคนิคการนับและแยกชนิดรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดแดงเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด การตรวจความผิดปกติต่างๆของเม็ดเลือดทางห้องปฏิบัติการฝึกใช้งานและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติทางโลหิตวิทยา

ชั้นปีที่ 4 ฝึกงาน

  • ปีสุดท้ายจะต้องเริ่มการทำโปรเจคจบและหาบทความทางวิชาการมาทำวิชาวารสารสัมมนา กิจกรรมในปีนี้ก็จะไม่แยอะเท่าปีอื่น ๆ อีกทั้งในเทอมสุดท้ายยังฝึกงานจริงในโรงพยาบาลเพิ่มเติมอีกด้วย

คณะเทคนิคการแพทย์ มีสาขาเฉพาะทางอะไรบ้าง?

  1. สาขาวิชากิจกรรมบำบัด

สำหรับวิชาชีพนี้จะเป็นการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์การแพทย์ และศิลปศาสตร์ ไปใช้ในการป้องกัน รักษา และส่งเสริมฟื้นฟูความสามารถในการทำกิจกรรม โดยดัดแปลงกิจกรรมจากกิจวัตรประจำวัน งานอาชีพ หรือกิจกรรมนันทนาการสำหรับใช้ในการฝึก ผู้พิการทางกาย เช่น อัมพาตครึ่งซีก หรือครึ่งท่อน แขนขาขาด ผู้ป่วยที่ผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคจิตซึมเศร้า จิตเภท และเด็กที่มีปัญหาด้านการพัฒนาการหรือสมองผิดปกติ เช่น เด็กปัญญาอ่อน เด็กเรียนรู้ช้า รวมถึงผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมตามวัย

  1. สาขาวิชากายภาพบำบัด

เป็นวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงหนึ่ง เกี่ยวกับการป้องกัน รักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่างกายของผู้ที่มีความผิดปกติอันเนื่องมาจากโรคหรือการบาดเจ็บ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกัน แก้ไข รักษา และเพิ่มพูนสมรรถภาพร่างกายที่ผิดปกติให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี งานทางกายภาพบำบัดเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางระบบกระดูกโครงร่างและกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนโลหิต และระบบประสาททั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงการกระตุ้นพัฒนาการในกลุ่มเด็กพิเศษ การดูแลปัญหาสุขภาพสตรีและหญิงมีครรภ์ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งการดูแลและฟื้นฟูการบาดเจ็บทางการกีฬา

  1. สาขาวิชารังสีเทคนิค

สาขาวิชารังสีเทคนิคเป็นวิชาชีพที่ว่าด้วยการใช้รังสีเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และได้ผล และเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจหรือรักษา โดยใช้สารกัมมันตรังสี เช่น การตรวจ และรักษาโรค ต่อมไธรอยด์เป็นพิษและคอพอก การตรวจฝีในตับ การตรวจหาตำแหน่งการกระจายของมะเร็ง รวมทั้งการใช้รังสีรักษาโรค เช่น การฉายรังสีเอกซ์ แกมม่า หรืออิเล็กตรอน การใส่สารกัมมันตรังสีหรือฝังเข็ม กัมมันตรังสีรักษามะเร็ง เป็นต้น

  1. สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์

สำหรับสาขาเป็นวิชาชีพนี้จะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มาประยุกต์ใช้ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยวินิจฉัย ติดตามอาการ และติดตามผลการรักษาโรค เช่น การตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะ ส่วนประกอบและหน้าที่ของเม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยโรคโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยมะเร็งเลือดขาว การตรวจของเหลวจากร่างกายโดยวิธีทางเคมี เช่น การตรวจความผิดปกติของระดับน้ำตาลในเลือด และปัสสาวะในผู้ป่วยเบาหวาน

  1. สาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร

สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อาหารในเชิงของการแพทย์ เป็นการนำความรู้ด้านอาหารมาประยุกต์ใช้ในการบำบัด รักษาอาการป่วยของคนไข้

  1. สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก

สาขานี้จะเรียนเกี่ยวกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและปอดเทียม รวมไปถึงอุปกรณ์อื่น ๆ เกี่ยวข้องในการประคองการทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิตให้อยู่ ในสภาวะปกติระหว่างการผ่าตัดหัวใจ

  1. สาขาชีวเวชศาสตร์

สำหรับสาขานี้เน้นสร้างนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์

  1. สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์

แพทย์แผนไทยก็อยู่ในคณะสหเวชศาสตร์ โดยจะเน้นไปที่การใช้ความรู้พื้นฐานแผนไทย ยาสมุนไพรไทย ในการรักษาและการฟื้นฟูผู้ป่วย

นักเทคนิคการแพทย์อาชีพนี้ทำอะไร?

นักเทคนิคการแพทย์เป็นคนที่มีหน้าที่คอยตรวจสิ่งส่งตรวจต่างๆ ของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็น เลือด เสมหะ ปัสสาวะ สารคัดหลั่งต่างๆ และก็อีกหลายๆ อย่างเลย อีกทั้งยังรวมไปถึงการเจาะเลือดคนไข้ และการรับบริจาคโลหิตด้วย การทำงานในโรงพยาบาล ก็จะทำงานกันอยู่ในห้องแล็บและก็ห้องเจาะเลือด

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  • คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • คณะเทคนิคการแพทย์ วิทยาลัยนครราชสีมา
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเนชั่น จังหวัดลำปาง
  • คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จังหวัดกาญจนบุรี

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *