สวนสุนันทาผนึก 4 องค์กรพันธมิตร ผ่าตัดข้อไหล่ – ศอก และข้อเท้าเทียม เพื่อผู้ป่วยยากไร้ฟรี

 

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมกับ 4 องค์กรพันธมิตร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เเละสถานีข่าวโทรทัศน์ TNN จัดทำโครงการผ่าตัดข้อไหล่ ข้อศอก และข้อเท้าเทียม จำนวน 66 ข้อ เพื่อผู้ป่วยยากไร้ ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา และเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสที่มีปัญหาข้อไหล่ ข้อศอก และข้อเท้าเสื่อมที่มีปัญหาซับซ้อนให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีระดับสูง จากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า “หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต นวัตกรรมการจัดการสุขภาพยุคดิจิทัล (HIDA) มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา โดย ดร.สมชาย อัศวเศรณี ประธานโครงการ HIDA และประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ร่วมกับ รศ.ดร.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล นายสมพันธ์ จารุมิลินท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด นายองอาจ ประภากมล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด และดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง จัดโครงการผ่าตัดข้อไหล่ ข้อศอก และข้อเท้าเทียม เพื่อผู้ป่วยยากไร้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ น้อมเกล้า น้อมกระหม่อม ถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 66 พรรษา นอกจากนั้นยังช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานสากล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 66 ข้อ”

อธิการบดี กล่าวต่อว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ โดยมุ่นเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้บริหารในยุคดิจิทัล ให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการส่งเสริมสุขภาพ แนวทางป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ 5 ลำดับแรก ก็คือ โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคต้อตา และโรคข้อเสื่อม”

“ในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจํานวนมากกว่า 13 ล้านคน หรือราว 20% ของจํานวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และกําลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จำเป็นต้องมีการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทยทุกคน ทั้งนี้ หลักสูตร HIDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคข้อเสื่อมและยากไร้ให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลแบบมาตรฐานสากล” อธิการบดี กล่าวในที่สุด

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ : ข่าว

www.ssru.ac.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *