ไทยหนุนยุทธศาสตร์ยูเนสโก เด็กเข้าถึงการศึกษาไม่ตกหล่น 

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ 41 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-24 พ.ย. 2564 ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับ MadamAudrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ที่ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโกอีกวาระหนึ่ง และขอชื่นชมยูเนสโกที่ปรับวิธีการทำงานได้ดีในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานของยูเนสโกเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเวลาครบรอบทศวรรษ เพื่อทบทวนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของแห่งสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งยูเนสโกได้นำมาเป็นเป็นพื้นฐานสำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนงานและงบประมาณฉบับใหม่ของยูเนสโก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565-2566 ประเทศไทยเชื่อมั่นว่า แผนงานที่ประเทศสมาชิกร่วมกันจัดทำขึ้นมาในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันความร่วมมือภายในองค์กร ตลอดจนพันธมิตรอื่น ๆ ในการแก้ไขปัญหาระดับโลก

“ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยได้พยายามเปิดเรียนตามปกติ โดยสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียน และครูเป็นหลัก ดังนั้น การฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนและครูจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะเดียวกัน ได้คำนึงถึงการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ครอบคลุมเพื่อลดจำนวนเด็กตกหล่น โดยบุคลากรทางการศึกษาได้ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าถึงการศึกษาตามสิทธิพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และทั่วถึงของทุกคน”

รมว.ศธ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามแม้จะมีการนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาใช้มากมาย แต่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาก็เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ประเทศไทยจึงสนับสนุนยุทธศาสตร์ของยูเนสโกว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ปีพ.ศ.2565 -2568 เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม เสมอภาค สงบสุข และยั่งยืน นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุน Recommendation on Open Science ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเอาชนะความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา

รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า ในปี 2565 ประเทศไทยโดยความร่วมมือกับสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Education Ministers Conference) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะเป็นโอกาสดีในการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG4 และประเทศไทยก็มีความเข้มแข็งที่จะส่งเสริมการศึกษาที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ

ซึ่งเป็นการสานต่อที่ประเทศไทยได้ริเริ่มปฏิญญาจอมเทียน ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้สนับสนุนโครงการริเริ่มต่าง ๆ ของยูเนสโก ที่ส่งเสริมแนวคิดในการเผชิญหน้ากับปัญหาท้าทายของโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการมองอนาคตไปข้างหน้า และข้อเสนอแนะด้านจริยธรรมของ AI (Recommendation on the Ethics of Artificial Intelligence) เป็นต้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

-https://www.facebook.com/312592942736950/posts/864199254242980/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *