ส่อง 4 นโยบายการศึกษาต่างชาติ ‘ลดช่องว่างการเรียนรู้’ ช่วงโควิด วาระสำคัญที่ต้องเร่งแก้ เพื่อเตรียมเด็กพร้อมแบค ทู สคูล

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานกว่าสองปี ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ต้องปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนมาใช้วิธีการสอนทางไกล เด็กๆ เรียนหนังสือจากที่บ้าน ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำชัดเจนขึ้น เนื่องจากมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น อุปกรณ์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนอยากจนพิเศษหรือเด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเมื่อไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่เหมือนกับการเรียนในห้องเรียน จึงส่งผลให้การเรียนรู้ของเด็กๆ ขาดช่วงและหยุดชะงัก ทำให้เกิดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gap) หรือ ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเด็กๆ ให้กลับมาเรียนอย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด

ผลวิจัยจากคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ให้เห็นว่า เด็กชั้นอนุบาล 3 ในจังหวัดที่มีการระบาดของโควิด-19 จนทำให้ต้องปิดโรงเรียนเป็นระยะเวลานานถึง 1 เดือนเต็ม มีระดับคะแนนความพร้อมของเด็กปฐมวัย (School Readiness) ที่ต่ำกว่ากลุ่มที่สามารถไปเรียนได้ตามปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ ด้านภาษา ลดลง 0.39 ปี ด้านคณิตศาสตร์ ลดลง 0.32 ปี และด้านสติปัญญา ลดลง 0.38 ปี เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าการปิดเรียนส่งผลให้ระดับความพร้อมของเด็กปฐมวัยลดลง

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  เปิดเผยว่า ปัญหาช่องว่างการเรียนรู้ไม่ได้พบแค่ในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับระบบการศึกษาทั่วโลก โดยแต่ละประเทศต่างมีแนวทางรับมือและนโยบายระดับชาติในการแก้ไขปัญหา เพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ทั้งรายได้ งบประมาณของประเทศ ดัง 4 ประเทศตัวอย่างในรายละเอียดต่อไปนี้

  • อังกฤษ – จ้างเมนเทอร์ติวเข้มเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล กับ National Tutoring Programme

หนึ่งในตัวอย่างของประเทศที่มีรายได้สูง รัฐบาลของอังกฤษได้จัดตั้งกองทุนที่มีงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ภายใต้ชื่อ “Educational Catch-Up Initiatives” เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ โดยโรงเรียนต้องมีแผนการทำงานและกิจกรรมที่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้โรงเรียนร่วมโครงการจ้างติวเตอร์พิเศษเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาช่องว่างการเรียนรู้ ให้สามารถเรียนได้ทันเพื่อน มีการจัด In-House Mentor ให้กับกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งผู้ที่จะมาเป็น Mentor จะต้องผ่านการอบรมเป็นการเฉพาะ

  • เวลส์ – รับสมัครครูเพิ่ม เพราะ “ครู” คือ เครื่องมือสำคัญในการลดช่องว่าง

แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ก็ให้ความสำคัญอย่างมากกับปัญหาการศึกษาในประเทศช่วงโควิด-19 ด้วยการจัดสรรทรัพยากรครูประจำการและครูที่กำลังเข้ามาใหม่ โดยปี พ.ศ. 2563 – 2564 ที่ผ่านมา เวลส์ได้กำหนดนโยบายการรับสมัครครูเพิ่มขึ้นจำนวน 600 คน และผู้ช่วยสอนจำนวน 300 คน เพื่อรองรับการช่วยเหลือนักเรียนในการฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ให้สามารถกลับมาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาสและเปราะบางในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่กำลังอยู่ในช่วงสอบจบการศึกษาในปีนี้

  • อินเดีย – สอนให้ตรงกับเลเวลของเด็ก

อินเดียเป็นอีกประเทศที่สถานการณ์ของโควิด-19 กระทบต่อระบบการศึกษาอย่างร้ายแรง เด็กนักเรียนหลายล้านคนทั่วประเทศไม่ได้เรียนหนังสือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แม้จะเป็นประเทศที่มีงบประมาณไม่มาก แต่ก็มีแนวทางลดช่องว่างการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือ โครงการ Teaching at the right level (TaRL) หรือ การสอนให้ตรงกับระดับ โดยองค์กรเอ็นจีโอ Pratham ซึ่งเป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และมีชื่อเสียงจนงานศึกษาวิจัยที่ติดตามโครงการได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ.2562 ในยุคของโควิด-19 ยิ่งสามารถนำมาปรับใช้แก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี โดยครูที่เป็นอาสาสมัครของโครงการ ซึ่งอยู่ประจำตามหมู่บ้านต่างๆ  จะประเมินผลเด็กในกลุ่มยากจน และมีปัญหาการเรียน ในหมู่บ้านทั่วประเทศว่ามีทักษะด้านการอ่านและทักษะด้านคณิตศาสตร์อยู่ในระดับไหน และใช้เครื่องมือในการฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนากลับมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็น สามารถเรียนได้ทันคนอื่นๆ

  • บังกลาเทศ – กลไกการสื่อสารกับการเรียนรู้

องค์กรเอ็นจีโอ  BRAC ในบังกลาเทศ ได้จัดทำระบบสื่อสารที่เรียกว่า Pashe Achhi (อยู่ข้างคุณ) เพื่อสนับสนุนดูแลสุขภาพจิตของผู้ดูแลเด็กเล็ก ด้วยการโทรศัพท์ไปพูดคุยกับผู้ดูแลหรือพ่อแม่ของเด็กทั่วประเทศทุกๆ สัปดาห์ เพื่อสำรวจและให้กำลังใจ รวมถึงให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้ของเด็ก มีครูจัดการเรียนการสอนผ่านทางโทรศัพท์ ในวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาบังคลาเทศ ต่อกลุ่มนักเรียน 3-4 คน โดยมีพ่อแม่ฟังด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักสูตร Playful Learning โดยจัดอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรม Play-Based Learning ให้กับเด็กกลุ่มอายุต่างๆ มีไฟล์เสียงคู่มือการทำงาน วิธีการพูด และการสื่อสารเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางร่างกาย สติปัญญา ภาษา ทักษะอารมณ์สังคมแก่เด็ก

สำหรับประเทศไทยมีตัวอย่างเครื่องมือลดช่องว่างการเรียนรู้ที่โรงเรียนหลายแห่งได้นำไปปรับใช้และเห็นผลสำเร็จ คือ นวัตกรรม Learning Box หรือ ชุดกล่องการเรียนรู้ ที่ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อช่วยสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลดข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ ครูต้องปรับตัวและพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้ตามพื้นที่และบริบท เพื่อช่วยให้เด็กๆ สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตนเองได้และสามารถปิดช่องว่างทางการเรียนรู้ได้ในที่สุด เพื่อรองรับการเปิดเรียนเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ตลอดจนตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 หรือ บิ๊กร็อคที่ 2 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้กำหนดกรอบนโยบายไว้เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยให้เข้มแข็งอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *