เด็กไทย รั้งท้าย “ภาษาอังกฤษ” อยู่จริงหรอ?

“ภาษาอังกฤษ” ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นภาษากลางสำหรับการสื่อสารทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับวิชาภาษาอังกฤษในชั้นเรียน แต่หากมองย้อนกลับไปในการจัดอันดับสำหรับความชำนาญในด้านภาษาอังกฤษเพื่อทำผลสำรวจจัดอันดับของสถาบันการศึกษาระดับโลก Education First จะพบว่าประเทศไทยยังคงรั้งท้ายอยู่เสมอทั้งในทวีปเอเชียและทั่วโลก ในปี 2017 ประเทศไทยถูกจัดอันดับไว้ที่ 53 จาก 80 ประเทศ ปี 2018 ถูกจัดอันดับไว้ที่ 64 จาก 88 ประเทศ และล่าสุด ปี 2021 ประเทศไทยยังคงถูกจัดอันดับไว้ที่ 100 จาก 112 ประเทศ โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับสูงมากมีเพียงแค่ 1 ประเทศเท่านั้น นั่นคือ สิงคโปร์ ขณะที่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับสูง เวียดนาม อินโดนีเซีย อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับต่ำ และ ไทย เมียนมา กัมพูชา รั้งท้ายอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษในระดับต่ำมาก ซึ่งเผยให้เห็นอีกมุมหนึ่งที่ทั้งน่าสนใจและน่าเป็นห่วงต่อระบบการศึกษาประเทศไทยและเกิดเป็นคำถามว่าปัจจัยใดที่ยังทำให้ระบบการศึกษาไทยกับภาษาอังกฤษยังคงถดถอยอยู่เสมอ

ปัญหา 3 ปัจจัยหลักที่ยังคงฉุดเด็กไทยให้รั้งท้าย “ภาษาอังกฤษ”

ปัจจัยที่เกิดจากตัวผู้สอนและหลักสูตรบทเรียน

ปัจจุบันชาวต่างชาติจำนวนมากนิยมเข้ามาสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทย แต่น้อยคนนักที่จะเป็น”ครู”มืออาชีพ ปัญหาของครูฝรั่งในเมืองไทยคือ บางคนไม่ได้เป็นครูจริง ๆ เป็นเพียงฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ ทำให้ยังขาดการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่อง อีกทั้งในปัจจุบันครูสอนภาษาอังกฤษยังมีจำนวนน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับอัตราจำนวนนักเรียนที่มีห้องละ 40-50 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะสอนให้เขาพูดได้ ที่สำคัญครูประถมยุคนี้ยังต้องสอนทุกวิชา แทนที่จะเน้นวิชาใดวิชาหนึ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ นั่นจึงทำให้ประสิทธิภาพการสอนภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ดร.อรพรรณ วีระวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว) ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในเมืองไทยเหตุที่เด็กไทยยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้ว่าจะเรียนในหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดให้ได้เรียนกันตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมเวลาทั้งสิ้น 12 ปีเต็ม ๆ แต่เด็กไทยก็ยังใช้ภาษาอังกฤษในการพูดไม่ได้ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมาเด็กละเลยที่จะเรียนพูดขณะที่ครูไม่เน้นให้ความสำคัญเพราะในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีการสอบพูด ครูไทยเน้นการสอบไวยากรณ์ (grammar) และเนื้อเรื่อง(reading) เพื่อให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้น การเรียนภาษาอังกฤษเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะแตกต่างจากการเรียนเพื่อนำมาใช้พูดในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะการเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นการเรียนแบบท่องจำท่องศัพท์ เก็งข้อสอบ เพื่อจะได้ทำข้อสอบให้ได้มากที่สุด เด็กไทยเป็นจำนวนมากที่ทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้ดีแต่เมื่อเจอชาวต่างชาติพูดไม่ได้ ดังนั้น ครูต้องเน้นการสอนพูดมากกว่าไวยากรณ์ ปัญหาในขณะนี้ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คือรับครูไม่ตรงวุฒิทางการศึกษาประจำการในโรงเรียนต่าง ๆ เด็กจะมีปัญหาภาษาอังกฤษมาก จึงอยากเห็นรัฐบาลลงทุนผลิตครูภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นและต้องปรับในเรื่องเงินเดือนด้วย นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลฟื้นทุนครู 5 ปีในวิชาเอกต่าง ๆ กลับมาอีกครั้ง เพราะเราจะได้ครูในวิชาเอกต่าง ๆ ซึ่งก็หมายถึงครูภาษาอังกฤษด้วย

 

ปัจจัยที่เกิดจากเด็กหรือตัวผู้เรียนเอง

ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาทางการและสากลสำหรับการสื่อสารทั่วโลก แต่นักเรียนในประเทศไทยกลับยังมองหรือถูกปลูกฝังมาเสมอว่าไม่ใช่ภาษาของบ้านเกิดของตน ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดหรือกล้าแสดงออกในกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษเพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งนักเรียนยังต้องเรียนหลายวิชาในวันเดียวทำให้ฝึกทักษะในการใช้ภาษาน้อย โดยจำนวนนักเรียนในแต่ละห้องก็ยังมีมากเกินไปทำให้ไม่ได้ฝึกทักษะกันอย่างทั่วถึง และนักเรียนก็ยังคิดว่าภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่ยาก และไม่ได้มีโอกาสที่จะสื่อสารกับเจ้าของภาษา ไม่ได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น กิจกรรมเข้าค่ายภาษาอังกฤษ หรือกิจกรรมวันคริสต์มาส ซึ่งทำให้นักเรียนมีความรู้ทั่วไปน้อยจึงทำให้ไม่เข้าใจเนื้อหาภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ปัญหาของโรคต่าง ๆ อย่าง สถานการณ์ Covid-19 ก็ยังส่งผลและเป็นปัญหา เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแต่ละครั้งทำให้ทางโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน เพราะเกรงว่าทั้งครูและนักเรียนจะไม่ปลอดภัยทำให้เกิดปัญหาต่อกิจกรรมการเรียนการสอน เนื่องจากครูมีเวลาสอนไม่เพียงพอ นักเรียนมีเวลาเรียนภาษาอังกฤษน้อยลง เมื่อปิดโรงเรียนทางโรงเรียนไม่มีมาตรการรองรับในการหยุดเรียน เช่น ไม่มีบทเรียนให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านเมื่อมีปัญหาต้องหยุดเรียน จึงทำให้นักเรียนตามบทเรียนไม่ทัน

 

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถควบคุมได้

ปัจจัยบางอย่างมักถูกจำกัดหรือกำหนดขึ้นมาเพื่อใช้ในการเรียนรู้ โดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนครูผู้สอนภาษาอังกฤษ และไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมภาษาอังกฤษ เช่น การเข้าค่ายภาษาอังกฤษ จัดนิทรรศการวันสำคัญที่เกี่ยวกับภาษาอังกฤษ การซื้อเอกสารประกอบการสอน และการผลิตสื่อมีงบค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เนื่องจากทางโรงเรียนเน้นกิจกรรมที่โรงเรียนปฏิบัติเป็นประจำ เช่น การเข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารี การเรียนการสอนที่ให้เรียนรู้ภายในห้องเรียน ทั้งนี้เนื่องจากตารางสอนในแต่ละวันของนักเรียนเต็มทั้งวันจึงไม่ค่อยมีเวลาให้นักเรียนทำกิจกรรมนอกห้องเรียน อีกทั้งผู้ปกครองเองก็ยังมีส่วนสำคัญ พ่อแม่หลายคนไม่ได้ชอบภาษาอังกฤษ ไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่บังคับให้ลูกเรียนเพราะอยากจะยกปมด้อยตัวเองให้ลูก เมื่อลูกไม่รู้สึกว่าพ่อแม่ชอบภาษาอังกฤษ ไม่ทำให้เห็นว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องที่ง่าย เด็กก็รู้สึกไม่สนุก มองว่าน่าเบื่อ ถูกบังคับ จนขี้เกียจ และไม่เกิดการพัฒนาไปในที่สุด การเรียนรู้และฝึกฝนทางด้านภาษาจะต้องอาศัยความต่อเนื่อง โอกาสที่จะได้ฝึกพูด ฝึกออกเสียง เหมือนกับพ่อแม่สอนให้ลูกพูด ก็ต้องจำเป็นที่จะต้องอยู่กับลูก สอนทุกวัน ไม่ใช่สัปดาห์นึงสอนลูกแค่สองชั่วโมง ความต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะลูกใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ ดังนั้นหากที่บ้านไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษ หรือไม่มีสื่อภาษาอังกฤษเลย อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ลูกอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปด้วย ดังนั้นต้องเริ่มปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวลูกให้มีภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น หากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษทำร่วมกัน เช่น ฟังเพลงภาษาอังกฤษ ดูการ์ตูนภาษาอังกฤษ อ่านนิทานภาษาอังกฤษที่บ้าน ฯลฯ ปรับสิ่งแวดล้อมให้ลูกได้เจอกับการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อทำให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยและอยากเรียนรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น นอกจากนี้การขาดแคลนอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ เช่น เครื่องเสียง ทีวี ซีดี คอมพิวเตอร์และหนังสืออ่านนอกเวลา ขาดแหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม จำนวนอุปกรณ์ การสอนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการก็เป็นปัจจัยที่เป็นปัญหาส่งผลต่อการศึกษาไทยได้เช่นกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *